หมอย้ำ ตั้งทีมรับมือคนเมากัญชา มีผลข้างเคียง ขอเด็กต่ำกว่า 20 ปี อย่าไปใช้ สถิติเผยอีสานชอบนัก ภาคใต้ชอบกระท่อม วอนเคลิ้มสนุกแล้ว อย่าขับรถ

วันที่ 13 มิ.ย.2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงจุดยืนสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาในเด็ก โดยยืนยันว่าเราไม่อยากให้ใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญของกรมการแพทย์ศึกษาและแนะนำขอให้ใช้ในกลุ่มที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปด้วยซ้ำ เพื่อความปลอดภัย เพราะกัญชามีผลต่อพัฒนาการสมอง การเรียนรู้ และระบบประสาท

หากจะใช้ในเด็ก ก็ต้องใช้กรณีเด็กที่มีโรคลมชักไม่สามารถรักษาด้วยยาต่างๆ หรือดื้อยาแล้ว และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง คือ กุมารแพทย์และประสาทวิทยาและขอให้งดใช้ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช และหญิงตั้งครรภ์

ทั้งนี้ขอเตือนว่ากัญชาในตลาดมืดน่ากลัว เพราะผลิตไม่ได้มาตรฐาน ขณะนี้เตรียมบุคลากรและสถานพยาบาลรองรับภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะการประชุมประจำเดือนกรมการแพทย์วันที่ 14 มิ.ย.นี้ จะมีการหารือติดตามผลดี ผลเสีย บางคนผลข้างเคียงชัดเจน ที่พบคือคอแห้ง ใจสั่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล

ด้านนพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จะดูแล 2 ส่วนในการเฝ้าระวัง คือ ส่วนแรกระยะเฉียบพลัน เฝ้าระวังห้องฉุกเฉิน อย่างช่วงแรกจะพบผู้ใช้ไม่ถูกวิธีก็จะมาที่ห้องฉุกเฉิน เป็นอาการทางระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือดเป็นหลัก และส่วนที่สอง โดย สบยช. มีการเฝ้าระวังการใช้ในไปในทางเสพติด ซึ่งได้ทำไลน์ “ห่วงใย” ขึ้นมา เพื่อประเมินอาการว่าติดหรือไม่ติดได้

ทั้งนี้ กลุ่มที่ใช้ทางการแพทย์จะมีความเข้าใจอยู่แล้ว โดยกลุ่มสันทนาการน่าเป็นห่วง ขอให้อย่าใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อย่างการสูบ จะมีอาการทางระบบประสาท และระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดัน วิงเวียนศีรษะ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเสียชีวิตจากพิษโดยตรง ยกเว้นไปขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยหลังใช้ ขอให้งดขับรถ งดใช้เครื่องจักรภายใน 6 ชั่วโมง

เมื่อถามว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากการรวบรวมของ รพ.ในสังกัด สธ.หรือไม่ และสอดคล้องกับพื้นที่ใดที่ใช้กัญชาสูง นพ.มานัส กล่าวว่า ข้อมูลนี้มาจากรพ.ใน สังกัดสธ. ส่วนข้อมูลดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการใช้กัญชาสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์จากกัญชาในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ขณะที่ภาคใต้จะเป็นกระท่อม

โดยอนาคตเป็นไปได้ที่จะระบุว่าการใช้กัญชาห้ามขับรถ เหมือนกรณีป่วยโรคลมชักจะไม่สามารถได้ใบรับรองแพทย์เพื่อต่อใบอนุญาตขับขี่ได้ นพ.มานัส กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะกรมการแพทย์ได้หารือกับกรมควบคุมโรค หารือเรื่องการวิจัย งานวิชาการเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการประเมินสมรรถนะเรื่องการขับขี่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน