ใกล้ประกาศ TIP report ของอเมริกา? นักกฎหมาย เสนอไทย เร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เชื่อยังมีขบวนการค้าโรฮิงญา แนะเร่งแก้ไขการใช้แรงงานเด็ก

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า ราวปลายเดือนนี้รายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons (TIP) report ปี 2022 ของ สหรัฐอเมริกาจะมีการประกาศออกมา ใคร่เรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ในปีที่แล้วไทยถูกลดอันดับจากที่เคยอยู่ในกลุ่มที่ 2 ให้มาอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ Tier 2 Watch List

ปีนี้ประเทศไทยตั้งใจที่จะกลับไปสู่เทียร์ 2 อีกครั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนว่า

รัฐบาลให้ความสำคัญและตระหนักถึงภัยอันตรายของการค้ามนุษย์และประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา การดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ที่มีเป้าหมายให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยมีการบริหารจัดการภัยคุกคามทุกรูปแบบในองค์รวมทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

รวมทั้งมีการจัดทำแผนปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ระยะ 20 ปี ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่สลับซับซ้อนในหลายมิติ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระบวนการค้ามนุษย์ ได้หาวิธีการหลอกลวง และกระทำความผิดในการค้ามนุษย์ รูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ขณะที่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในงานเดียวกันว่า ผลการดำเนินการ ปี 2564 มีความคืบหน้าโดยด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ 188 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 55 คดี โดยในจำนวนนี้เป็นคดีออนไลน์ 107 คดี สูงกว่าปี 2563 จำนวน 37 คดี มีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนในการค้ามนุษย์

การใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในการใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ดอนเมือง

ด้านการคุ้มครอง หน่วยงานรัฐและองค์การพัฒนาเอกชน ได้ทำการช่วยเหลือผู้เสียหาย 354 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 123 คน พัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ ออกคำแนะนำแนวทางปฏิบัติต่อผู้เสียหาย พัฒนาแนวทางให้อิสระต่อผู้เสียหาย ในการเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครองและใช้เครื่องมือสื่อสาร

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หยิบประเด็นเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ซึ่งมี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา มาอภิปรายระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ ทำให้ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์และชะตากรรมของ พล.ต.ต. ปวีณ กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

สำนักข่าวอัลจาซีรา เสนอสารคดี “Thailand’s Fearless Cop” ความยาว 46.25 นาที บน YouTube เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ พล.ต.ต.ปวีณ ที่ขณะนี้กำลังลี้ภัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ในประเด็นการค้ามนุษย์โรฮิงญาที่เชื่อมโยงกับบรรดาตำรวจและทหารผู้มีอำนาจในไทย

จน พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. ออกมาแถลงว่าการกล่าวหาเชื่อมโยงพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นแกนหลักระดับนโยบายของรัฐบาล ในการนำและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังที่ผ่านมา จนสถานภาพและปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ โดยการกล่าวหาที่ไม่มีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ จะเป็นการสร้างความสับสนกับสังคมและต่างประเทศ

ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการประเมินสถานภาพการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยที่จะมีขึ้น และจะกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม

แต่เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล และกองทัพเรือ เข้าช่วยกลุ่มชาวโรฮิงญา 59 คน ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์ทิ้ง อยู่ในสภาพหิวโซ บริเวณเกาะดง ในเขตอุทยานทางทิศตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การพบชาวโรฮิงญาถูกทิ้งเป็นการยืนยันว่ายังมีการค้ามนุษย์โรฮิงญาอยู่ปัจจุบัน และสามารถเดินทางผ่านน่านน้ำไทยไปกลับ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่พบเห็นหรือดำเนินคดี ดังนั้นจึงหวังว่าจะมีการดำเนินคดีอย่างถอนรากถอนโคนกับขบวนการเหล่านี้อย่างจริงจัง

รวมทั้งคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เพราะมักพบการหลบหนีของคนเหล่านี้จากสถานคุ้มครอง เพราะการจัดการดูแลในสถานสงเคราะห์ไม่ใช่การคุ้มครอง แต่เป็นการควบคุมที่ไม่มีความอบอุ่นและปลอดภัย ทำให้ไม่มีใครอยากอยู่ และปัญหาถูกควบคุมอย่างยาวนานในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่มีนโยบายแก้ไขในกรณีอุยกูร์

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องเร่งแก้ไขการใช้แรงงานเด็กซึ่งเป็นอีกปัญหาของการค้ามนุษย์ โดยการรณรงค์และต่อต้านไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ เฉพาะอย่างยิ่งแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ยังอนุญาตให้เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปทำงานได้

ที่สำคัญคือการ “แก้ไข” ปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่การ “แก้ตัว” เพื่อการสร้างภาพลักษณ์และไม่ยอมรับความเป็นจริง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน