ประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มชาวประมงทะเลพื้นบ้าน ค้านรัฐออกประกาศห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับฟังพร้อมนำความเดือดร้อนชาวประมงแจงรมต.

23 มิ.ย. 65 – นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากกลุ่มเกษตรกรพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้ง 8 อำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง รวมกว่า 300 คน นำโดย นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับพระราชกำหนดการประมงมาตรา 57 พ.ศ.2558 ที่จะนำมาบังคับใช้กับชาวประมง

โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย สำนักงานประมงจังหวัดประจวบฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังปัญหา นายประทีป อบเชย นายกสมาคมประมงพื้นบ้านประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย รองนายกสมาคมฯ ทั้ง 8 อำเภอ เข้าร่วมเวที รับฟังความคิดเห็น เรื่องการกำหนดสัตว์น้ำขนาดเล็ก ของ พรก.การประมง 2558 และ 2560 มาตรา 57

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน 8 อำเภอ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น โดยพร้อมเพรียง

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีนโยบายการออกประกาศห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือประมงตามมาตรา57แห่งพระราชกำหนดการประมง พศ.2558 มาบังคับใช้กับชาวประมงนั้น

ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมในวันนี้ได้ลงมติว่า อาจทำให้เรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์มีความเสี่ยงที่จะกระทำผิดได้โดยง่ายเหมือนกัน เพราะเครื่องมือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ ต่างก็สามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้เช่นกัน

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงในภาพรวม และอาจเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการทุจริตเรียกร้องผลประโยชน์โดยมิชอบจากชาวประมงในการไม่ให้ถูกตรวจจับ

หากกระทำผิดโดยตั้งใจหรือมิได้ตั้งใจก็ตาม ก็จะถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา 114(8) โดยจะมีโทษปรับตามมาตรา139 ปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 30 ล้านบาท

ส่วนในเรือประมงพาณิชย์ หากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล จะมีโอกาสถูกสั่งยึดเรือตามมาตรา169และจะต้องถูกคำสั่งทางปกครองยึดสัตว์น้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในเรือประมงตามมาตรา 113(1) และถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 113(4)

ซึ่งจะทำให้เจ้าของเรือประมงที่มีเรือประมงอยู่หลายลำ ไม่สามารถขอใบอนุญาตประมงพาณิชย์กับลำอื่นๆ ตามมาตรา 39 ได้ ดังนั้นกฎหมายมาตรา57 แห่ง พรก.การประมง จึงเป็นกฎหมายที่ในทางปฎิบัติไม่สามารถจะกระทำได้โดยง่าย

สมาคมจึงขอคัดค้านการนำมาตรา 57 แห่ง พรก.การประมงมาบังคับใช้และเสนอให้เลิกมาตรา 57 ออกจาก พรก.การประมงด้วย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชาวประมง จากปัญหา เรื่องการกำหนดสัตว์น้ำขนาดเล็ก ของ พรก.การประมง 2558 และ 2560 มาตรา 57

โดยตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน 8 อำเภอ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น ความต้องการชาวประมง พื้นบ้าน 1.ไม่นำมาตรา 57 มาบังคับใช้ หรือต้องมีการพิจารณาให้ดีที่สุด
2.กระจายอำนาจตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 12 ข้อ ให้แต่ล่ะจังหวัดมีอำนาจกำหนด วิธีการทำประมงได้เอง

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตรที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ได้มารับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประมงที่ได้ผลกระทบกับการออกมาตรา 57 ของภาครัฐนั้น มีผลกระทบอย่างมาก พร้อมกับข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ การออกมาตรา 57 ของภาครัฐ

ซึ่งมีผลกระทบรายปีที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างมากจากการที่ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ ซึ่งจะนำไปเรียนให้นายเฉลิมชัย เพื่อหาทางแก้ไขให้กับพี่น้อง ชาวประมงต่อไป นายอลงกรณ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน