ผวจ.เชียงราย หวั่นผลกระทบข้ามแดน เขื่อนปากแบง 3 อำเภอริมโขงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ กฟผ.ทำหนังสือแจง กมธ.อ้างไม่มีอำนาจสั่งชะลอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
วันที่ 6 ต.ค.65 มีรายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบขนส่ง ทำหน้าที่ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฏร เพื่อชี้แจงกรณีที่ กมธ.ได้ขอข้อมูลผลกระทบจากสัญญารับซื้อไฟฟ้า(PPA) ในโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง ที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนไทย โดยขอร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนปากแบง โครงการเขื่อนปากลายและโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และยังขอให้ชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้าไปจนกว่า กมธ.จะได้รับข้อมูลครบถ้วน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในหนังสือที่ กฟผ.ส่งถึงประธาน กมธ.ระบุว่า ร่างสัญญาโครงการเขื่อนบากแบง อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) ส่วนโครงการเขื่อนปากลายและเขื่อนหลวงพระบาง อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาโดย อสส. ซึ่ง อสส.มีอำนาจ ตามกฏหมายที่จะใช้ดุลพินิจแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างสัญญา กฟผ.จึงไม่สามารถเปิดเผยร่างสัญญาให้ กมธ.ได้
เนื่องจากการเปิดเผยสัญญาก่อนลงนามย่อมเป็นการเปิดเผยร่างสัญญาในขณะที่อยู่ระหว่างการดำเนินการที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากการดำเนินการของ กฟผ.และหน่วยงานภาครัฐ อาจทำให้ กฟผ.และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนคู่สัญญาได้รับความเสียหายจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน
“การเจรจาและการดำเนินการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนต่างประเทศดำเนินการโดยผ่านขั้นตอนการพิจารณาและเห็นชอบโดยหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.ยังไม่ได้รับการสั่งการจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจและหน้าที่เรื่องราวการชะลอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า”ในหนังสือระบุ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดเชียงราย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ นางเพียรพร ดีเทศน์ ผอ.ฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ เข้าพบ นายภาสกร บุญญาลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อหารือถึงข้อห่วงใยในประเด็นเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน และการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว จากโครงการสร้างเขื่อนปากแบง ที่อยู่ห่างจาก บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 97 กม.
นายนิวัฒน์ กล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะปกครองท้องที่ และ ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงใน(กอ.รมน.)จังหวัดเชียงราย ว่า รู้สึกกังวลในเรื่องผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและน้ำสาขา เพราะมีข้อมูลว่าโครงการเขื่อนปากแบงกำลังเดินหน้า หลังการชะลอโครงการเพื่อศึกษาไปก่อนหน้านี้ ด้วยความห่วงใยในเรื่องน้ำเท้อ ตามที่ MRC ศึกษาไว้ในเดือนมิถุนายน 2560 หากมีการกักน้ำหลังเขื่อนในระดับน้ำ 340 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมีน้ำเท้อ หรือน้ำไหลย้อนกลับไปถึงสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 ที่อำเภอเชียงของ
ซึ่งจะทำให้น้ำท่วม แก่งผาไดและแก่งก้อนคำ ซึ่งเป็นพื้นที่วิถีชีวิตและงานประเพณีของชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐและท้องถิ่น เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยว จากที่เคยเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 4 เดือนในฤดูแล้ง และยังอาจท่วมขังไปในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาคือแม่น้ำงาว และแม่น้ำอิง ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตร
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า จากการที่สื่อมวลชนลงพื้นที่สองวันที่ผ่านมา (3-4 ต.ค.) สอบถามชาวบ้านทราบว่าชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเวียงแก่นยังไม่ทราบว่า ระดับน้ำจะท่วมถึงไหนและจะสร้างความเสียหายแค่ไหน เมื่อไม่มีข้อมูลก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเยียวยากันอย่างไร หากน้ำเท้อเข้าแม่น้ำอิงอีกก็จะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่มปลูกข้าวจำนวนมากถ้าท่วมจริง ทำให้มีข้อห่วงใยและข้อมูลที่ติดตามสถานการณ์รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ด้าน น.ส.เพียรพร กล่าวว่า จากความกังวลผลกระทบต่อประชาชนอำเภอเชียงแก่นที่อยู่ติดแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาจากการสร้างเขื่อนปากแบง โดยก่อนหน้านี้เขื่อนปากแบงพัฒนาโครงการโดยบริษัทต้าถังของจีน ซึ่งทางเครือข่ายประชาชนไทยลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด เคยทำหนังสือถึงคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) โดยเดือนมกราคม ปี 2561 ทางซีอีโอ บริษัท ไชน่า ต้าถัง (CDT : China Datang Corporation ) และบริษัทต้าถัง โอเวอร์ซี (CDTO: China Datang Overseas Invesment Co.,Ltd.) เข้าพบกลุ่มรักษ์เชียงของและประชุมร่วมกัน
ซึ่งเราก็เสนอให้จัดทำผลกระทบข้ามพรมแดน ให้แล้วเสร็จก่อน ว่าจะมีผลกระทบต่อจังหวัดเชียงรายว่าเชียงรายจะเดือดร้อนอย่างไรบ้าง ในตอนนั้นบริษัทต้าถังก็เห็นด้วย ทำให้มีการประชุมกันอีกครั้งที่คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจะมีร่วมกันอีกหลายคณะที่จะร่วมกันศึกษา หลังจากนั้นทางลาวได้ประกาศชะลอโครงการไป จนเวลานี้โครงการได้กลับมาอีกครั้ง มีบริษัทเอกชนไทยเข้าซื้อหุ้นบริษัท บริษัทต้าถัง โอเวอร์ซี และเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการเขื่อนปากแบงใน สปป.ลาว
น.ส.เพียรพร กล่าวว่า คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเร็วๆ นี้ ทำให้มีความกังวลว่าเรื่องผลกระทบยังไม่ทราบเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สัญญาที่มีอายุ 29 ปี เป็นระยะเวลานาน เมื่อลงนามแล้วก็ทำให้ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ จากการสอบถามหน่วยงานในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น พื้นที่ปลูกส้มโอที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมประมาณ 2 พันกว่าไร่
ดังนั้นสิ่งที่เราอยากเห็นคือ ขอให้มีการชะลอการลงนามสัญญาไปก่อนและให้มีการจัดทำศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนว่าจะมีประชาชนจะกระทบกี่ครัวเรือน จะมีค่าเสียหายอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการตัดสินใจการเดินหน้าโครงการต่อไป
ด้าน นายภาสกร กล่าวว่า ความมั่นคงชายแดน จังหวัดเป็นหน่วยปฏิบัติ ไม่ใช่หน่วยนโยบาย แม้สามารถนำเสนอความเห็นได้แต่ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศที่ต้องเจรจากับทางลาวโดยตรง เพราะว่าลำน้ำโขงเป็นลำน้ำระหว่างประเทศ
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจีนทำเขื่อนต่าง ๆ มากมายในประเทศของเขา เราไม่สามารถทำอะไรได้ แต่สามารถร้องตามช่องทางที่ถูกต้อง หากมีการสร้างเขื่อนปากแบง จะทำให้น้ำโขงที่ผ่านจังหวัดเชียงราย เป็นทั้งหน้าเขื่อนและหลังเขื่อน เขาควบคุมการปล่อยน้ำ รวมทั้งเรื่องของวิถีธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เรื่องของปลาที่เคยได้สมัยก่อนมันต้องว่ายทวนน้ำไปวางไข่ ก็หายไปหมด ตรงนี้ทำอะไรไม่ได้ แล้วแต่เขาจะเห็นใจขนาดไหน
นายภาสกร กล่าวว่า ส่วนแก่งผาไดช่วงพื้นที่ที่อยู่ระหว่างไทยกับลาว เราสามารถให้ความเห็นได้ แต่พอเข้าไปในลาวแล้ว เราทำได้เพียงพูดให้ฟังว่าต้องดูเรื่องผลกระทบด้วย เมื่อเป็นเขื่อนที่สร้างไว้กักเก็บน้ำเพื่อปั่นไฟฟ้าต้องมีปริมาณน้ำพอสมควร เพราะฉะนั้นหลังเขื่อนก็ต้องมีการศึกษาผลกระทบ
“อยากให้ช่วยกันดูในภาพของข้อเท็จจริง ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าจะไปที่ไหนอย่างไร การทำเขื่อนนั้นรู้อยู่แล้วว่าจะทำความสูงเท่าไหร่ ระดับน้ำทะเลเป็นตัวตั้ง กักเก็บน้ำในปริมาณเท่าไหร่ จะเห็นภาพน้ำถอยออกไปขนาดไหน นี่เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างคำนวณได้ชัดเจน สามารถศึกษาได้” นายภาสกรกล่าว
ผู้ว่าราชการ กล่าวว่า ตอนนี้เราแทบจะมีความรู้เรื่องเขื่อนปากแบงน้อย เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้ามีการประชุมหารือเป็นเรื่องเป็นราวเราควรส่งข้อมูลออกไปให้เขารู้ว่าจะกระทบขนาดไหน เพราะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเยอะมาก และมีการปรับวิถีคนริมน้ำไปหมด ส่วน กฟผ. และบริษัทเอกชนไทยที่สร้างเขื่อน อาจไม่รู้ว่าผลกระทบกับใครบ้าง ถ้าเกิดผลกระทบ จะไม่ใช่แค่คนในอำเภอเวียงแก่น แต่จะกระทบทั้งหมด ทั้งคนเชียงของ เชียงแสน จะเจอน้ำทั้งหน้าเขื่อนและหลังเขื่อน เขาอยู่ตรงกลางคุมปริมาณน้ำไม่ได้
ส่วนกรณีของเกาะช้างตาย อ.เชียงแสน ที่ปัจจุบันมีคนลาวเข้ามาจับจองภายหลังจากร่องน้ำเปลี่ยนแปลงนายนายภาสกรกล่าวว่า เป็นเรื่องความมั่นคงซึ่งกองทัพภาคที่ 3 และ สมช.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
“เรื่องระหว่างประเทศ จะมี สมช. กรมแผนที่ทหาร กระทรวงต่างประเทศ ส่วนจังหวัดมีหน้าที่ดูแลเช่นกันแต่บางเรื่องเกินศักยภาพ เรื่องเขตแดนต้องเป็นเรื่องของหน่วยงานของกรมสนธิสัญญา กระทรวงต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ดูแล”นายภาสกร กล่าว