เมื่อวันที่ 5 ก.พ. น.ส.กานต์จรัส เอียดทองใส นายอำเภอลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและเกษตรอำเภอ เดินทางไปตรวจสอบจุดรับซื้อข้าว บ้านขี้ตุ่น ต.โคกสะอาด อ.ลำปลายมาศ หลังจากที่ได้รับแจ้งจากนายสายลม บุญหว่าน นายกอบต.โคกสะอาด ซึ่งเป็นเจ้าของ โรงสีทรัพย์ทวีพูลผล ว่ามีเกษตรกรนำข้าวนาปรังมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิ เพื่อมาขายให้ เกรงว่าจะมีการแพร่ระบาดในจังหวัดและคาดว่าน่าจะมีการทำเป็นขบวนการ

เมื่อเดินทางไปถึง นายสายลมได้พาเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ข้าวเปลือกน้ำหนักประมาณ 3 ตันที่เพิ่งเอาลงจากรถอีแต๋นแบบ 6 ล้อ มากองอยู่ที่พื้นข้างรถบริเวณจุดรับซื้อข้าวปากทางเข้าโรงสี จากการตรวจสอบตัวอย่างข้าวด้วยวิธีบดและแช่น้ำยา เพื่อเปรียบเทียบข้าว 2 ชนิดในรถคันเดียวกัน พบว่าข้าวหอมมะลิจะไม่มีการเปลี่ยนสี ส่วนข้าวนาปรังจะออกเป็นสีม่วง หลังจากที่แช่น้ำยา ส่วนคนขับรถอีแต๋นที่นำข้าวมาขาย ได้ให้การกับตำรวจว่า ได้รับการว่าจ้างมาจากท่าข้าวแห่งหนึ่งใน อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่เขตติดต่อกับ อ.ลำปลายมาศ ให้ขนข้าวมาขาย โดยได้รับค่าจ้าง 1,000 บาท ค่าน้ำมันอีก 200 บาท รวมเป็น 1,200 บาท ส่วนข้าวที่ขนมาขายนั้นไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นข้าวอะไร

ด้านนายสายลม กล่าวว่า เมื่อรถขนข้าวขับเข้ามาจอดก็มีการตรวจสอบข้าวตามปกติ แต่กระบะข้างรถเป็นลักษณะทึบไม่สามารถใช้อุปกรณ์เจาะตรวจข้าวได้ จึงเจาะได้เพียงด้านบน เมื่อนำข้าวมาตรวจสอบตามกระบวนการ พบว่าเป็นข้าวมะลิชั้นดี เพราะมีเปอร์เซ็นต์ข้าวถึง 45 เปอร์เซ็นต์ โดยปกติแล้วข้าวในพื้นที่จะมีเพียง 30-35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงให้ราคาเพิ่มอีก 10 สตางค์จากเดิมรับซื้อในราคา 16.50 บาท เป็น 16.60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งข้าวในรถมีประมาณ 3,500 กิโลกรัม คิดเป็นเงินจำนวน 58,000 บาท

นายสายลม กล่าวต่อว่า หลังจากนำข้าวขึ้นชั่งแล้วจะต้องเอาข้าวไปลง แต่ขณะนั้นเกิดสังหรณ์ใจว่าข้าวในรถจะมีเปอร์เซ็นต์สูงหรือไม่ จึงเดินตามไปดูตอนเอาข้าวลง ก็พบทันทีว่าข้าวในรถที่เทออกมานั้น เป็นข้าวนาปรังเกือบทั้งหมด คาดว่ามีการนำข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีมาเทไว้ด้านบนเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็การตบตา ตนจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการตรวจสอบ โดยข้าวจำนวนดังกล่าว ถ้าเป็นข้าวนาปรังราคาจะลงมาอยู่ที่ประมาณ 24,000 บาท ซึ่งมีราคาส่วนต่างกว่าข้าวหอมมะลิถึง 33,000 บาท แตกต่างจากการซื้อขายข้าวตามปกติ โดยทั่วไปแล้วข้าว 1 คันรถพ่วงหรือน้ำหนักประมาณ 30 ตัน จะได้กำไรไม่เกิน 7,000 บาท

“ที่ผ่านมาเคยโดนการปลอมปนมาแล้วหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นรถหกล้อบรรทุกข้าวมาขายจนถูกคู่ค้าข้าวด้วยกันยกเลิกการซื้อ-ขาย สูญเสียเงินไปแล้วหลายล้านบาท ตนจึงระวังตัวในการรับซื้อข้าวมากขึ้น แต่ก็ยังพบว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบด้วยวิธีการจ้างรถของเกษตรกรมาขายเพื่อเป็นการตบตาให้เป็นธรรมชาติ และตยจะดำเนินคดีกับเจ้าของข้าวต้นทางให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง”นายสายลม กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน น.ส.กานต์จรัส ได้กล่าวหลังร่วมตรวจสอบข้าวว่า หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของตำรวจและพาณิชย์จังหวัด ทำการพิสูจน์ว่าข้าวดังกล่าวเป็นข้าวนาปรังจริงหรือไม่ หากมีการยืนยันชัดเจนก็จะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าของข้าวที่ว่าจ้างอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้ทำให้ข้าวของอำเภอลำปลายมาศ ต้องเสียชื่อเสียงเพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวนาโดยตรง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน