ชาวบางกลอย โอดสารพัดปัญหารุม โรคระบาด ขาดอาหาร ความรุนแรง ไร้ที่ทำกิน ซ้ำถูกฟ้องคดี จี้ คณะกรรมการ หลังผ่านไป 1 ปีไม่คืบ แนะ 3 ประเด็น
วันที่ 20 ก.พ.2566 นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านชุมชนบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) ชาวบ้านจัดประชุมหมู่บ้านและจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนบางกลอย เพื่อให้มีบทบาทแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะปัญหาสิทธิชุมชนด้านต่าง ๆ หากมีปัญหาที่เกิดขึ้นคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องจัดประชุมและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์เร่งด่วนที่เกิดขึ้น คือ กรณีนายตะกินุ กว่าบุ ชาวบ้านบางกลอย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงปืนข่มขู่ระหว่างเข้าไปในป่า ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำ เพราะได้รับข่าวจากชุมชนที่ห้วยขาแข้งว่ามีเหตุเจ้าหน้าที่ยิงชาวบ้านเสียชีวิต และที่ประชุมยังได้หารือถึงกรณีชาวบ้านที่ทำงานให้กับศูนย์ฝึกศิลปาชีพทอผ้าได้รับเงินค่าตอบแทนล่าช้าไปกว่า 2-3 เดือน และบางคนได้รับเงินไม่ครบ จึงต้องการให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้
“ชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวนมากป่วยคล้ายโรคมาลาเรีย มีอาการท้องเสีย อาเจียน มีไข้ บางคนถ่ายเป็นเลือด จึงต้องการให้หน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน รวมถึงสถานการณ์ของชุมชนในปีนี้ขาดแคลนข้าวสารและพริก อันเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพของคนกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นผลจากการไม่มีที่ดินทำกินและไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนมานานหลายปี”นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ ระบุอีกว่า สำหรับความคืบหน้าของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ที่มี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ตั้งขึ้นมาครบ 1 ปีแล้วนั้น ล่าสุดมีการประชุมไปเพียงครั้งเดียว และมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพียง 1 ครั้ง ทำให้ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ขณะที่การทวงถามข้อเรียกร้องต่อนายอนุชาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้รับคำตอบ
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มีการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่และรังวัดพื้นที่ไร่หมุนเวียนบริเวณใจแผ่นดินร่วมกันนั้น ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมการฯ ดังนั้นหากชาวบ้านได้กลับเข้าไปอยู่ที่ชุมชนดั้งเดิม ก็อาจจะเจอปัญหาหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถปลูกข้าวไร่ ไม่มีข้าวกิน ต้องสูญเสียวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน ประเพณี และความเชื่อที่มีต่อธรรมชาติ อาจเกิดการแย่งชิงทรัพยากร แย่งชิงพื้นที่ปลูกบ้านเหมือนที่เกิดขึ้นในชุมชนบางกลอยตอนนี้ ที่บางคนต้องปลูกบ้านในที่ดินคนอื่น บางส่วนยังไม่มีที่ดินทำกิน อีกทั้งอาจเกิดปัญหาสังคมตามมา
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า หากปัญหาสิทธิชุมชนยังไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมส่งผลต่อวิถีชุมชนวัฒนธรรมคนกะเหรี่ยงอย่างภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียนจะสูญหายไป ซึ่งหวังว่าคณะกรรมการฯ จะเห็นใจและทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้คณะกรรมการมีคำสั่งไปยังอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องพวกเรา 30 คน 2.ให้คณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้พวกเราชาวบ้านกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นได้กลับไปยังพื้นที่ดั้งเดิม บริเวณบางกลอยบน 3.ให้คณะกรรมการฯ มีคำสั่งไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสั่งการณ์ให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้เจ้าหน้าที่ร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นไปรังวัดพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่บริเวณบางกลอยบน ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการฯ
“คดีความที่ชาวบ้านถูกฟ้องข้อหาแผ้วถางบุกรุกพื้นที่อุทยาน ในความจริงแล้ว พื้นที่ใจแผ่นดินที่เราจะกลับไปล้วนเป็นผืนดินที่ปู่ย่าตายายของเราทำกินมาก่อน พิสูจน์ได้จากภาพถ่ายทางอากาศ ร่องรอยแปลงทำกินไร่หมุนเวียน พืชพรรณที่ปลุกเอาไว้ เช่น ทุเรียน มะม่วง ขนุน และยังมีหลุมศพของชาวบ้านฝังเอาไว้”นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากชาวบ้านต้องไปขึ้นศาล คงไม่มีเงินไปศาล แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ หากชาวบ้านต้องติดคุก ใครจะเป็นคนดูแลครอบครัวแทน หวังว่าคณะกรรมการฯ จะเห็นใจในความลำบากของชาวบ้าน และเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องและเร่งแก้ปัญหา เพื่อให้ชาวบ้านสามารถกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินและทำไร่หมุนเวียนตามวิถี เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครจริงจังต่อการแก้ปัญหานี้ เราจึงฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการฯ เพื่อให้คนบางกลอยได้คืนถิ่นใจแผ่นดิน