นครราชสีมา วิกฤต อ่างเก็บน้ำ 27 แห่ง เหลือไม่ถึงครึ่ง ห้วยน้ำเค็ม หนักสุด เกือบแห้งขอด กระทบชาวบ้าน ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และการเกษตร

18 ก.ย. 66 – สถานการณ์น้ำ จังหวัดนครราชสีมา ที่เก็บกักในอ่างเก็บน้ำทั้ง 27 แห่ง เหลือน้ำเก็บกักรวมอยู่ที่ 483.63 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39.75% เท่านั้น และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 421.15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.49 %

โดยแยกเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง, อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ ซึ่งพบว่า ทั้ง 4 แห่ง เหลือน้ำเก็บกักเฉลี่ย 359.79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40.63 % แต่เป็นน้ำใช้การได้ 322.35 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.01 % เท่านั้น

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง เหลือน้ำเก็บกักเฉลี่ย 123.84 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37.39 % แต่เป็นน้ำใช้การได้ 98.80 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 32.27 % ซึ่งในจำนวน 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง พบว่า มีอยู่ 7 แห่งที่ปริมาณน้ำภายในอ่างฯ เหลือน้อยมาก ไม่ถึง 30%

สำหรับ อ่างเก็บน้ำที่เหลือน้ำน้อยที่สุด เข้าขั้นวิกฤต คือ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหญ้าคา หมู่ 2 ตำบลหนองแจ้งใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ 749 ไร่

โดยปริมาณน้ำปัจจุบัน เหลืออยู่แค่ 139,000 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 20.72% จากความจุ 670,000 ลูกบาศก์เมตร แต่เป็นน้ำใช้การได้แค่ 27,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 4.83 % เท่านั้น

เนื่องจากในพื้นที่มีฝนตกน้อยและมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยมาก แม้ว่าจะเป็นช่วงหน้าฝนก็ตาม น้ำในอ่างห้วยน้ำเค็มตอนนี้ จึงเกือบแห้งขอด ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบ ขาดแคลนน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และใช้ในการเกษตร

ซึ่งต่างจากสภาพน้ำในอ่างฯ ของปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่มีปริมาณน้ำเกือบล้นความจุอ่างฯ โดยมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 631,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 94.05 % และเป็นน้ำใช้การได้ 519,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 92.86 %

ผู้นำในท้องที่และเจ้าหน้าที่ชลประทาน ต้องเร่งระดมชาวบ้านช่วยกันขุดดินทำคันอ่าง กั้นน้ำที่ไหลมาจากลำห้วยธรรมชาติที่ไหลเข้ามาลงในอ่างอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับเร่งพร่องน้ำออก เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ ป้องกันไม่ให้อ่างฯ แตก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน