ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เสนอแยกกัญชงออกจากกัญชา ต้องไม่อยู่ในกฎหมายเดียวกัน แนะรัฐส่งเสริมการปลูกกัญชง ให้เป็นพืชใช้เส้นใยทำเครื่องอุปโภค
วันที่ 17 พ.ย.2566 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ชี้ กัญชงไม่เหมือนกัญชา เสพไม่ได้ ติดไม่ได้ ไม่เป็นอันตราย จึงไม่ต้องควบคุมเหมือนกัญชา
ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเพื่อให้มีพระราชบัญญัติกัญชากัญชงอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 4 ตุลาคม สมาคมสร้างสรรค์เกษตรกรไทย นำคณะมายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ม่าง พ.ศ….
ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชาและคณะยื่นหนังสือถึงนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทย และคณะ เพื่อเร่งรัดออกกฎหมายควบคุมพืชกัญชงและกัญชา เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและส่งเสริมอุตสาหกรรม และวันที่ 12 ตุลาคม เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และคณะยื่น ร่างพระราชบัญญัติควบคุมกัญชา กัญชง พ.ศ….ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร
ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล และคณะเสนอ เข้าสู่กระบวนการออกกฎหมาย โดยอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. เคยเข้าสู่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้วและมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เมื่อจะมีการลงมติก็มีสมาชิกเข้าประชุมไม่เพียงพอ ทำให้สภาล่ม จนหมดวาระของสภาผู้แทนราษฎรและหมดวาระสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากประเด็นเรื่องกัญชาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นห่วงจนไม่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ในสภาสมัยที่แล้ว ยังมีเรื่องกัญชงที่เป็นประเด็นสำคัญอีกด้วย
แม้ว่ากัญชาและกัญชงจะคล้ายกันเมื่อต้นยังเล็ก แต่เมื่อโตขึ้นก็มีความแตกต่างกันชัดเจน โดยกัญชาสูงไม่ถึง 2 เมตร ต้นเตี้ยใบเล็ก มีกิ่งเกาะเป็นพุ่ม ใบสีเขียวจัด แต่กัญชงสูงมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป ใบใหญ่ กิ่งกระจัดกระจายไม่เกาะเป็นกลุ่ม และมีใบสีเขียวอมเหลือง
ที่ต่างกันชัดเจนส่งผลสำคัญให้กัญชาและกัญชงมีคุณสมบัติแตกต่างกัน คือ กัญชง (Hemp) มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ไม่เกิน 0.3% ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการเมาหรือมีฤทธิ์ต่อประสาท ซึ่งในทางสากลเป็นที่ยอมรับกันว่า พืชที่มีปริมาณสาร THC น้อยกว่า 0.3% ไม่ถือว่าเป็นพืชเสพติด
ในขณะที่ กัญชา (Marijuana) ส่วนมีสาร THC ประมาณ 5-20% ทำให้กัญชามีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการเมา และถือเป็นสารเสพติด
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในความจริงพบว่า ไม่มีใครนำกัญชงมาเสพ และไม่มีใครเสพติดกัญชง ซึ่งแตกต่างจากกัญชาที่มีการนำมาเสพ มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท และมีการเสพติดกัญชา
ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวม้งมีวัฒนธรรมปลูกและใช้กัญชงในฐานะพืชดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อเกิดก็ต้องรองรับทารกด้วยผ้ากัญชง และเมื่อตายก็ใส่เสื้อผ้าตลอดจนรองเท้า ที่ทำจากกัญชง ไม่เคยมีใครนำกัญชงไปบริโภค มีแต่เอาเส้นใยไปทำเครื่องอุปโภค
หลังจากมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ให้กัญชาและกัญชงพ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยให้มีผลในอีก 120 วัน ทำให้มีกระบวนการเพื่อควบคุมกัญชากัญชงออกมาอย่างต่อเนื่อง
แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มีความเข้าใจความแตกต่างระหว่างกัญชากับกัญชง จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 โดยไม่มีการประกาศควบคุมกัญชง
นายสุรพงษ์เรียกร้องให้ สภาผู้แทนราษฎร ต้องตัดเรื่องการควบคุมกัญชงออกจากพระราชบัญญัติเหล่านี้ เหลือเพียงเรื่องการควบคุมกัญชาเรื่องเดียว โดยแก้ไขเป็นพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ…. เพื่อให้กัญชงซึ่งไม่ใช่พืชเสพติด คือ เสพไม่ได้ ติดก็ไม่ได้ และเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชาวม้ง ได้รับการยอมรับและส่งเสริมโดยไม่มีความจำเป็นต้องควบคุม
ขณะเดียวกันรัฐต้องส่งเสริมการปลูกกัญชงให้เป็นพืชใช้เส้นใยในการทำเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้ตามวิถีวัฒนธรรม เช่นเดียวกับการปลูกปอ ปลูกฝ้าย ที่เกษตรกรสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต