วันที่ 5 มี.ค. ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นำนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการแก้ไขปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวมากถึงวันละ 6,000 ถึง 7,000 คน สามารถจัดเก็บรายได้วันละกว่า 3,000,000 บาท แต่ได้รับการร้องเรียนว่าเกิดความวุ่นวาย แออัด และอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงแนวปะการัง แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ท่องเที่ยวจะยังไม่มีผลกระทบต่อสัตว์หายาก และใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่น นกชาปีไหน นกลุมพูขาว และสัตว์อื่นๆ

ทั้งนี้กรมอุทยานฯ ได้กำหนดมาตรการที่เข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกาะ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีมากกว่า 14 จุด เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว และช่วงเวลาขึ้นไปยังฝั่งทะเลบนชายหาดเกาะแปด หรือเกาะสิมิลัน และเกาะสี่ หรือเกาะเมียง ทำให้ปัญหานักท่องเที่ยวกระจุกตัวเริ่มคลี่คลายดีขึ้น จะมีเฉพาะช่วงเวลา 11.30 น. ถึงเวลา 13.30 น. เท่านั้น ที่ยังมีปัญหานักท่องเที่ยวแออัด เนื่องจากต้องขึ้นไปรับประทานอาหารในเวลาไล่เลี่ยกัน

ดร.ทรงธรรม เปิดเผยว่า ยังต้องมีการแก้ไขปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังหมู่เกาะสิมิลันเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักวิชาการเพื่อป้องกันมิให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม มีการศึกษาขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยวในจุดต่างๆ เพื่อพัฒนาความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังหมู่เกาะสิมิลัน จากข้อมูลทางวิชาการยังไม่พบความเสียหายของทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนกชาปีไหน ที่อาศัยหากินอยู่บนเกาะเมียง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยยังมีนกลุมพูขาว ค้างคาวแม่ไก่ อาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่การสำรวจข้อมูลทางทะเลก็พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เข้าไปอาศัยหากินอยู่ในบริเวณหมู่เกาะสิมิลันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของแนวปะการัง ที่เคยได้รับความเสียหายจากการฟอกขาวเมื่อปี 2553 ขณะนี้กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ

“จากการสำรวจพื้นที่เกาะตาชัย ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้ประกาศปิด ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่เกาะมาตั้งแต่ปี 2558 พบว่าในปัจจุบันสภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติโดยรวมของเกาะตาชัย โดยเฉพาะแนวปะการัง ฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อนาคตหากมีมาตรการควบคุม กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว และมาตรการป้องกันผลกระทบไม่ให้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้รับความเสียหาย ก็อาจจะเสนอให้มีการเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความสวยงามของธรรมชาติได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ก็จะไม่มีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปพักค้างอย่างเด็ดขาด” ดร.ทรงธรรม กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน