สตูล ประมงหอยกะพง รวมพลร้องศูนย์ดำรงธรรม วอน อช.ไม่เลือกปฏิบัติ ทำสัญลักษณ์แนวเขตบอกพิกัดชัดเจน ขอเรือคืน ไม่กลั่นแกล้ง เห็นใจชาวบ้าน

18 ม.ค. 67 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านในตำบลท่าแพ และ ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล 30 คน เดินทางมาศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล ศาลากลางจังหวัดสตูล

เพื่อทำหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรม พร้อมโชว์เอกสารบันทึกจับกุม เรือประมงของชาวบ้านไปจำนวน 1 ลำ พร้อมภาพเรือประมงที่ถูกจับกุมให้ นายธนภัทร เด่นบูรณะ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม และนายเทอดไทย ขวัญทอง ผอ.ทศจ.สตูล (ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล)

ประเด็นครั้งนี้เกิดขึ้น หลังจากที่ลูกบ้านถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จับกุมและยึดเรือประมงไปจำนวน 1 ลำ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติพุทธศักราช 2562 มาตรา 19 (2) เก็บ หานำออกไป กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นอันตราย จากอุทยานฯ ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมสภาพ และมาตรา 20 บุคคลที่เข้าไปในเขตอุทยานต้องปฏิบัติตามเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่

ซึ่งประเด็นดังกล่าว นายสุนทร หนูนุ้ย หมู่1 ต.สาคร อำเภอท่าแพ เปิดเผยว่า พื้นที่ถูกจับกุมเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปหากินมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่กว่า 50 ปีแล้ว ไม่มีแนวเขตบอกพิกัด ว่าจุดใดคือจุดของเขตพื้นที่อุทยานฯ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน หลังจาก เรือลำน้อย ที่ถูกยึดจับกุมไปเป็นเรือที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากนายทุน เป็นชาวบ้านคนในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่เก็บหอมรอมริบเพื่อซื้อเรือลำละ 4-5 หมื่นบาทไว้ทำกิน แต่กลับมาถูกจับกุมด้วยความไม่รู้

ที่ผ่านมาก็เข้าไปหากินด้วยการหาหอยกะพง รุ่นต่อรุ่นอย่างนี้โดยตลอด ถึงอยากให้มีการส่งคืนเรือให้กับชาวบ้าน และขอให้มีการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจนของอุทยานหมู่เกาะเภตรา เพื่อให้ชาวบ้านได้รับทราบถึงแนวเขต

อีกทั้งขอให้มีการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม เพราะชาวบ้านได้เก็บหลักฐานเกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมายหลายชนิดในเขตอุทยานมายื่นต่อศูนย์ดำรงธรรมให้มีการพิจารณาด้วย

ด้าน นายอุดมการณ์ จิแอ อายุ 49 ปี ตัวแทนชาวบ้าน ตำบลสาคร อ. ท่าแพ เปิดเผยต่อว่า ชาวบ้านไม่มีจีพีเอส ไม่รู้พิกัดว่า บริเวณไหนคือเขตอุทยาน อยากจะชี้ให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา กับชาวบ้าน จนเกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการเข้าไปทำมาหากิน

ประเด็นนี้ชาวบ้านหลายคนติดใจ อยากให้ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และกำหนดแนวเขตประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนว่าส่วนไหนไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ ก่อนจับกุมเห็นว่า ควรมีการตักเตือนก่อน แต่ครั้งนี้พบว่ามีการตักเตือนและก็จับกุมเลย

ซึ่งอยากให้เห็นใจชาวบ้าน เพราะไม่ใช่นายทุนมาจากไหนเป็นชาวบ้านในพื้นที่ หาเงินซื้อเรือกันเอง และหอยที่ได้มาก็มาจ้าง แม่บ้านผู้หญิงและคนชราในหมู่บ้านแกะหอยอีกทอดหนึ่งแต่ละคนมีรายได้ 2-300 บาท

ด้านนายเทอดไทย ขวัญทอง ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล หลังเข้ารับฟังเรื่องราว พร้อมกล่าวว่า เรื่องที่สามารถดำเนินการได้เลยคือ การประชาสัมพันธ์แนวเขตและติดป้ายให้ชาวบ้านได้รับทราบโดยทั่วกัน ว่าตรงไหนคือพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พร้อมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ส่วนประเด็นการคืนเรือของกลางที่ถูกจับกุมไปนั้น จะต้องมีการพูดคุยทางคดีร่วมกับทางตำรวจและอุทยานอีกครั้ง

หลังจากนั้นทางศูนย์ดำรงธรรมได้ให้ตัวแทนของชาวประมงหอยกะพง มาเขียนข้อร้องเรียนของการเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อรับเรื่องส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาให้ชาวบ้านต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน