วันที่ 10 มี.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สโมสรพื้นที่นี้…ดีจัง และกลุ่มดินสอสี ร่วมจัดแถลงข่าว ความไม่คืบหน้าคดีชัยภูมิ ป่าแส ร่วมรำลึก 1 ปี แห่งการจากไปของนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญ ที่ด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมีตัวแทนฝ่ายกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนชาวบ้านจากเชียงดาว เข้าร่วม ภายในงานมีกิจกรรมทั้งการเล่นดนตรีจากคลองเตยถึงเชียงดาว พร้อมร่วมวางอ่อเวะ (ดอกเสื้อลาหู่) เป็นเสื้อชัยภูมิ พร้อมอ่านคำรำลึกจะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ในประเด็นมายาคติ ชาติพันธุ์ ความรุนแรงและสิทธิมนุษยชน ไว้ว่า “ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา นโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด มีเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหลายกรณี ในกรณีการอุ้มหาย ชาติพันธุ์ลาหู่ โดยคนไทยภาคกลาง หรือคนกรุงเทพเรียกคนลาหู่ว่า “มูเซอดำ” มีความเชื่อว่าคนมูเซอดำค้ายาเสพติดเพราะอยู่ติดชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้คนลาหู่ถูกตรวจค้น ถูกสังหาร ถูกทรมาน หากไปดูในรายงานบังคับสูญหายของสหประชาชาติ 82 กรณี พบว่าเป็นชาติพันธุ์ลาหู่ประมาณ 14-15 กรณี ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถคลี่คลายคดี ไม่สามารถเปิดเผยความจริงถึงที่อยู่หรือชะตากรรมของพวกเขาได้”

นางอังคณา กล่าวต่อว่า จากการเข้าพบพูดคุยกับครอบครัวของนายไมตรี จำเริญสุขสกุล กลุ่มรักษ์ลาหู่ และชาวลาหู่ในหมู่บ้าน พบว่าเจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์สินหรือนำตัวบุคคลไป สิ่งที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังคือความหวาดกลัว มีผู้หญิงคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า อุ้มคนเป็นคนเดียวทำให้กลัวกันทั้งหมู่บ้าน ชัยภูมิเป็นเด็กรุ่นใหม่ ในช่วงสงครามยาเสพติดที่ผ่านมา ตอนนั้นเขาอาจจะยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ แต่ได้พบว่าเด็กรุ่นใหม่ของชาติพันธุ์ลาหู่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมสาธารณะ เพื่อพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า ความเป็นชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมประเพณีแตกต่าง ไม่ได้แปลว่าเขาจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย หลายคนไม่มีสัญชาติไทย การเรียกร้องรณรงค์ให้ได้สัญชาติไทยก็จะทำให้เด็กๆได้เข้าถึงสิทธิฯ”

“สิ่งที่เขาฝันคือการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ตอนได้คุยกับครูของชัยภูมิ ครูยืนยันว่าชัยภูมิเป็นเด็กดี รับจ้างเก็บกาแฟ ได้เงินมาก็ฝากสหกรณ์ ช่วยเหลืองานโรงเรียนทุกอย่าง ในความเป็นครู ครูไม่เชื่อว่าเขาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และไม่เชื่อว่าชัยภูมิจะใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องเล่าแบบนี้ คนข้างนอกอาจจะไม่ทราบ สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้กับคดีวิสามัญฆาตกรรมคือความคลุมเครือ ทุกฝ่ายก็เรียกร้องให้เผยกล้องวงจรปิดว่าช่วงที่ถูกวิสามัญฯ เกิดอะไรขึ้น ข้อหาที่เกิดขึ้นว่าเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมันกระทบกับชุมชนของเขาด้วย ทั้งนี้การกระทำที่เกิดขึ้นโดยรัฐ รัฐต้องคลี่คลายคดี เปิดเผยความจริงอย่างเป็นธรรม ไม่เห็นแก่หน้าใคร ไม่อย่างนั้นแล้ว ความไม่ไว้วางใจก็จะเพิ่มขึ้น” กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าว

ขณะที่ นายรัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทนายความคณะทำงานคดีชัยภูมิ ป่าแส กล่าวว่า การที่มีคนเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานและทำให้เขาถึงแก่ความตาย กฎหมายกำหนดให้มีการไต่สวน ผู้ตายคือใคร ตายเวลาใด ตายที่ไหน และที่สำคัญคือเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย กรณีของชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่า ชัยภูมิจะใช้ระเบิดกับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ทหารจึงต้องป้องกันตัว เหตุเกิดนี้มีหลักฐานสำคัญคือกล้องวงจรปิด 9 ตัว นายทหารระดับสูงเคยให้สัมภาษณ์ว่าเคยได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ในชั้นนี้ เกือบครบ 1 ปีแล้ว ยังไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิดให้ศาลเห็น มีหมายเรียกจากศาล มีหนังสือแจ้งตอบจากพนักงานสอบสวนว่า ฮาร์ดดิสก์เปิดไม่ได้ แต่ยังไม่เจอหลักฐานชิ้นนี้ หมายความว่าพยานหลักฐานถูกทำให้สูญหายไป เจ้าหน้าที่พนักงานต้องสืบหาความจริง ใครเกี่ยวข้องหรือครอบครองพยานหลักฐาน และใครเป็นคนทำให้พยานหลักฐานเสียหาย นี่คือเรื่องที่เราเรียกร้อง

นายรัษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับคดีของชัยภูมิ มีการอ้างว่ามีระเบิดอยู่กับผู้ตาย ไม่ต่างจากคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้เอ็ม 16 ยิง นายอาเบ แซ่หมู่ เสียชีวิตก่อนหน้าชัยภูมิ 1 เดือน ซึ่งอ้างว่ามีปืนเป็นอาวุธอยู่ในมือ จากการพิสูจน์ลายมือ ไม่ปรากฏลายพิมพ์นิ้วมือแฝงของนายอาเบ และทางครอบครัวยืนยันว่านายอาเบถนัดซ้าย แต่ปืนอยู่ในมือขวา พฤติการณ์การตายของนายอาเบไม่ต่างจากพฤติการณ์การตายของชัยภูมิ คดีของนายอาเบ มีผู้เห็นเหตุการณ์คือคนขี่รถจักรยานยนต์ ที่มารายงานกับพนักงานสอบสวนว่า ไม่มีการพยายามยิงหรือขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหารแต่อย่างใด พยานบุคคลที่เป็นชาวบ้านคือคนที่พนักงานสอบสวน อัยการ ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ตาย แต่อัยการกลับไปให้บุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นพยานเบิกความในศาล อันนี้ต้องตั้งคำถามว่า ศาลหรืออัยการได้ทำหน้าที่เพื่อความยุติธรรมแล้วหรือยัง เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ทนายความได้พบเห็นเอง

“ย้อนไปฟังบทสัมภาษณ์ของผู้บัญชาการระดับสูง ที่ให้ความเห็นเรื่องของชัยภูมิ ที่ระบุว่าถ้าเขาอยู่ในเหตุการณ์ เขาจะกดออโต้ หมายความว่ายิงรัว อันนี้สะท้อนให้เห็นอะไร หน้าที่ที่จะต้องเป็นกลาง ไม่เข้าข้างคนผิด ดำรงความยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ทหาร กลับสะท้อนความรุนแรง หลายต่อหลายเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ขอฝากไปเรียกร้อง กระตุ้นเตือน ว่าเจ้าหน้าที่รัฐและศาลชั้นต้น ต้องอยู่บนหลักยุติธรรม แสวงหาความจริง” ทนายรัษฎา กล่าว

ด้าน นายไมตรี จำเริญสุขสกุล กลุ่มรักษ์ลาหู่เชียงใหม่ ที่เป็นผู้ดูแลชัยภูมิ กล่าวถึงข้อเท็จจริง 1 ปีที่ผ่านมาหลังการเสียชีวิตของชัยภูมิว่า หลังที่ชัยภูมิเสียชีวิต เกิดสิ่งต่างๆมากมายในครอบครัว เดือนถัดจากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารยกกองทัพมาที่หมู่บ้าน ไม่ได้มา 2 คันหรือ 4 คัน แต่มาเต็มถนน เต็มหมู่บ้าน ล้อมหมู่บ้าน จับคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมายืนถ่ายรูปหน้าบ้านผม ตอนนั้นผมมาพบทูต เลยกลับไปไม่ทัน เจ้าหน้าที่จับน้องสะใภ้ผมไป น้องชายและภรรยารวบรวมความกล้าที่มีถ่ายภาพจากโทรศัพท์ไว้ มีคนมาซักทอดว่าน้องสะใภ้ผมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและถูกขังตั้งแต่วันนั้น และวันที่มาจับน้องสะใภ้ผม เจ้าหน้าที่ก็ถามถึงผมว่าไมตรีอยู่ไหน

นายไมตรี กล่าวต่อว่า ผมต้องมาสู้กับคดีชัยภูมิ ต้องคิดถึงคนที่อยู่ในเรือนจำ ต้องดูแลลูกๆเขา ต้องทำมาหากิน ต้องไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำ มันเหนื่อย ตอนที่เกิดเรื่องบุกจับน้องสะใภ้ผม ผมบอกว่า ผมผิดด้วยหรือที่ผมเรียกร้องความยุติธรรม ผิดด้วยหรือที่ผมพูดถึงการตายของชัยภูมิ กรณีของชัยภูมิไม่ใช่กรณีแรก ก่อนหน้านั้นหลายเดือนก็มีคนถูกยิงตายแบบนี้ ก่อนหน้านั้นอีกก็มี ผมเอาความกล้าทั้งหมดที่ไม่มีเอาออกมาให้มันมี เพื่อไม่ให้เกิดแบบนี้อีก ทุกวันนี้ลูกผมไม่ได้เรียนหนังสือ ผมต้องพาลูกเมียมาอยู่ในเมือง ย้ายที่ไปเรื่อยๆ เด็กสองคนไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว ผมเป็นคริสต์ อาจารย์สอนให้รู้ถึงคุณค่าชีวิตคน รู้ไหม เนื้อหมูกิโลกรัมหนึ่งราคาเท่าไหร่ แล้วคนละ กิโลกรัมละ 90 คุณจะซื้อไหม ผมบอกว่าไม่ซื้อ เนื้อคน ซื้อทำไม อาจารย์ถามต่อว่า แล้วหมูกับคน อะไรมีค่ากว่ากัน คนเรามีค่าไม่ใช่เพราะสภาวะทางร่างกาย แต่เพราะศักดิ์ศรี ที่คุณซื้อหาไม่ได้ แต่คุณกลับฆ่าคนแบบนี้

“ข่าวเสือดำดังมาก แต่ชัยภูมิตายทั้งคน กลับไม่มีคำตอบ หนึ่งปีแล้ว ผมกลัวนะ ไม่ใช่ไม่กลัว แต่มันต้องพูด ถ้าสิ่งที่พูดทำให้ผมตาย ผมก็ยินดี เพราะหมาที่จนตรอกมันไม่มีทางหนี มันพร้อมที่จะกัด ผมพร้อมแล้ว อะไรจะเกิดก็เกิด ผมไม่ได้มีค่าเพราะเป็นชาวดอย ลาหู่ สภาพภายนอกไม่ได้ทำให้คุณค่าความเป็นคนลด ผมต้องพาสองสามชีวิตจูงมือหนี มันเหนื่อยครับ แต่ผมพร้อมแล้ว มาเลยครับ คุณจะฆ่าอีกสักกี่ชีวิตให้เกิดความยุติธรรม น้องสะใภ้ผมอยู่ในเรือนจำลำบาก ผมพยายามหาทางช่วย เขาบอกว่าคดียาเสพติดต้องใช้เงินหลักล้านประกัน เขาขอสองล้าน ห้าหมื่นผมยังไม่เคยเห็นเลย มันดักทางไม่ให้ได้รับความยุติธรรม ผมพยายามไปหา ไปขอเอกสารไม่รู้อะไรเลย ก็ต้องมาฝึกทำ เป็นคนไม่ละเอียดก็ต้องมาฝึกทำให้ละเอียด มันเกิดอะไรกับชีวิตที่เคยสงบสุขดีๆ สุดท้ายผมหามาได้สองล้าน เขาบอกคดีใหญ่โตมากประกันตัวไม่ได้ คุณมาล้อมบ้านผม แม้แต่ยาเม็ดเดียวก็หาไม่เจอ แต่ไปออกสื่อว่าญาติชัยภูมิเอี่ยวยานรก ก็ฝากสื่อด้วย อยากให้เอาความจริงมาพูด กองทัพที่ไปบุกบ้านผมไม่เจอยาเสพติดแม้แต่เม็ดเดียว แต่พาดหัวข่าวแรงมากเหมือนพวกผมเป็นพ่อค้ายา วันนี้ผมกดดันทุกๆเรื่อง แต่ผมหมดความกลัวไปแล้ว” ตัวแทนกลุ่มรักษ์ลาหู่ กล่าว

ด้าน น.ส.ศิริพร พรมวงศ์ กลุ่ม Music Sharing คลองเตยดีจัง ตัวแทนเครือข่ายพื้นที่นี้…ดีจัง ร่วมกล่าวว่า กรณีชัยภูมิ เราสะเทือนใจ เพราะเราเชื่อความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ก่อนชัยภูมิตาย เราได้ขึ้นไปบ้านพี่ไมตรี พี่ไมตรีอยากเปิดร้าน สอนดนตรี ให้ชุมชน ชัยภูมิอยากเรียนหนังสือต่อ อยากทำงานกับชุมชนต่อ ในวันที่เกิดเหตุ เป็นวันที่เราเดินทางขึ้นไปในหมู่บ้าน เรารอชัยภูมิเพราะนัดกันไว้ว่าจะมาทำเพลง แต่เรากลับไปพบศพของน้องพร้อมกับพี่ไมตรี แน่นอนมีคำถามว่าน้องค้ายาจริงหรือเปล่า ขนยาจริงไหม เขาสมควรตายหรือเปล่า แต่เขามีโอกาสได้พูดเรื่องนี้ไหม ถ้าข้อเท็จจริงพิสูจน์ว่าผิดจริง เรายอมรับผลนั้นได้ แต่ก่อนที่เขาจะถูกอำนาจรัฐจัดการ เขาได้พิสูจน์ตัวเองหรือยังว่าเขาผิดหรือไม่ผิด เราต้องการความถูกต้องที่พิสูจน์ได้ เราถามกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกคนที่เป็นชาวบ้าน ทุกคนบอกว่าน้องถูกซ้อมจากคนเป็นสิบ แต่ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ เรื่องนี้ไม่ออกจากสื่อเลย เราต้องการรู้ความจริงว่ากระบวนการยุติธรรม ณ ตอนนี้ เกิดอะไรขึ้น

“ความฝันของพี่ไมตรีกับชัยภูมิยังอยู่ เราจะช่วยเหลือกัน ให้ความฝัน ให้คนที่ไม่มีสัญชาติได้สัญชาติ ได้เรียนหนังสือ ได้อยู่ในชุมชน เรื่องการถูกดูถูก ถูกใส่ร้ายว่าขายยาบ้า ความเชื่อเช่นนี้ชัยภูมิอยากพิสูจน์ว่าพวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราอยากพูดเรื่องนี้ในเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง เราอยากให้กำลังใจพี่ไมตรี เราไม่อยากให้พี่ไมตรีโดดเดี่ยว ครอบครัวด้วย ชุมชนด้วย”น.ส.ศิริพร กล่าว

ทั้งนี้สำหรับคดีวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส นั้น ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้นัดสืบคดีและสืบพยาน ไต่สวนการตาย คดีชัยภูมิ ป่าแส ในวันที่ 13-16 มี.ค. และ 20 มี.ค. 2561

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน