ชาวม้ง จ.ตาก ยื่นหนังสือถึงประธานกมธ.กิจการกลุ่มชาติพันธุ์ คัดค้านนำ ‘กัญชง’ เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ยืนยันไม่เคยมีการเสพและติดพืชกัญชง

วันที่ 20 มิ.ย.2567 นายยงยุทธ แซ่ม้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก และ นายปรีชา อย่างยอดเยี่ยม ผู้นำชาวม้ง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลคีรีราษฎร์ ยื่นหนังสือต่อ นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านและขอให้ตรวจสอบการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้กัญชงเป็นพืชเสพติด ประเภทที่ 5

นายยงยุทธ กล่าวว่า ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 9 ก.พ.2565 ให้กัญชาและกัญชงพ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยให้มีผลในอีก 120 วัน เกิดเสียงเรียกร้องเพื่อควบคุมกัญชาออกมาอย่างต่อเนื่อง จน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในการประชุมแก้ปัญหายาเสพติด เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขออกร่างประกาศ.กำหนดให้ “กัญชา-กัญชง” ส่วนที่เป็นช่อดอก และสารสกัดที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เป็นยาเสพติดประเภท 5 โดยเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน 11-25 มิ.ย. และจะเริ่มใช้บังคับ 1 ม.ค.2568 นี้

โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันพืชกัญชา ไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ประกอบกับมีข้อมูลว่า ประชาชนมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม จึงเห็นควรให้มีการควบคุมการปลูก นำเข้า ส่งออก หรือเสพกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัย หรือประโยชน์อื่น ที่มิใช่เพื่อการนันทนาการ

จึงเป็นการสมควรระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เป็นไปด้วยความรัดกุมรอบคอบ เพื่อนำไปใช้ในทางที่เหมาะสม

นายยงยุทธ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า เสียงเรียกร้องของสังคม มีความเป็นห่วงและต้องการให้มีการควบคุมกัญชา นายกรัฐมนตรีเอง ก็มีการสั่งการเฉพาะกัญชา และเมื่อจะออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ก็ระบุเหตุผลถึงเรื่องเฉพาะกัญชา แต่ในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขกลับมีกัญชงพ่วงเข้ามาด้วย

ด้าน นายปรีชา กล่าวว่า แม้ว่ากัญชาและกัญชงจะคล้ายกันเมื่อต้นยังเล็ก แต่ก็มีความแตกต่างกัน จนมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ยิ่งเมื่อโตขึ้นก็ยิ่งมีความแตกต่างกันชัดเจน โดยกัญชาสูงไม่ถึง 2 เมตร ต้นเตี้ยใบเล็ก มีกิ่งเกาะเป็นพุ่ม ใบกว้างสีเขียวจัด มี 5-7 แฉก แต่กัญชงสูงมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป ใบใหญ่ กิ่งกระจัดกระจายไม่เกาะเป็นกลุ่ม และมีใบเรียวสีเขียวอมเหลือง มี 7-11 แฉก

ที่ต่างกันชัดเจนส่งผลสำคัญให้กัญชาและกัญชงมีคุณสมบัติแตกต่างกัน คือ กัญชง (Hemp) มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ไม่เกิน 0.3% ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการเมาหรือมีฤทธิ์ต่อประสาท

ซึ่งในทางสากลเป็นที่ยอมรับกันว่า พืชที่มีปริมาณสาร THC น้อยกว่า 0.3% ไม่ถือว่าเป็นพืชเสพติด ในขณะที่ กัญชา (Marijuana) ส่วนมีสาร THC ประมาณ 5-20% ทำให้กัญชามีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการเมา และถือเป็นสารเสพติด

นายปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในความจริงพบว่า ไม่มีใครนำกัญชงมาเสพ ถ้าทดลองมาเสพจะปวดศีรษะ และไม่มีใครเสพติดกัญชง ซึ่งแตกต่างจากกัญชาที่มีการนำมาเสพ มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เคลิบเคลิ้ม และมีการเสพติดกัญชา

กัญชงสามารถปลูกได้อย่างถูกต้องในหลายประเทศ ขณะที่กัญชาปลูกได้บางประเทศ ส่วนใหญ่จะห้ามปลูกเนื่องจากเป็นพืชเสพติด ผิดกฎหมาย ในสหรัฐอเมริกาได้ปลดกัญชง (Hemp) ออกจากพืชเสพติดนานแล้ว

ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวม้ง มีวัฒนธรรมปลูกและใช้กัญชงในฐานะพืชดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อเกิดก็ต้องรองรับทารกด้วยผ้ากัญชง และเมื่อตายก็ใส่เสื้อผ้าตลอดจนรองเท้า ที่ทำจากกัญชง ไม่เคยมีใครนำกัญชงไปบริโภคหรือสูบเสพติด มีแต่เอาเส้นใยไปทำเครื่องอุปโภค

นายยงยุทธ กล่าวเรียกร้องว่า กระทรวงสาธารณสุข เคยมีความเข้าใจความแตกต่างระหว่างกัญชากับกัญชง จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 โดยไม่มีการประกาศควบคุมกัญชง

การที่กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศให้กัญชงเป็นพืชเสพติดประเภทที่ 5 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 จะทำให้ชาวม้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวม้งในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งเป็นแหล่งที่ปลูกกัญชง และผลิตผ้าใยกัญชงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับความเดือดร้อน ทั้งในด้านการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว และการดำเนินตามวิถีวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง

จึงใคร่ขอความกรุณาจากคณะกรรมาธิการฯในการตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อไม่ให้ชาวม้งได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะนำกัญชงพืชมรดกทางวัฒนธรรมของชาวม้งไปเป็นพืชเสพติด ทั้งที่กัญชงไม่สามารถเสพ และไม่มีใครติดกัญชง

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการเคยลงพื้นที่ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และเห็นวิถีการปลูกและใช้พืชกัญชงของชาวม้ง ทั้งทราบตำนานความเชื่อของชาวม้งที่เล่ากันว่า พ่อเจ้าหรือพระเจ้ามอบกัญชงให้เป็นพืชประจำชีวิตของชาวม้ง

ซึ่งถือเป็นพืชที่มีความหมายและความสำคัญสำหรับชาวม้งมากที่สุด จะนำหนังสือฉบับนี้เข้าแจ้งต่อประธานคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาบรรจุเป็นวาระให้คณะกรรมาธิการประชุมแก้ไขปัญหาให้ชาวม้งตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน