‘อธิบดีอุทยานฯ’ ชี้เรื่องดีโซเชียลตื่นตัว # Saveทับลาน เผยยอดโหวตผ่านเว็บไซต์กรมอุทยานฯ พุ่งแล้ว 6-7 หมื่นคาดสิ้นสุดหลักแสน วงในปูดทุบเอาพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ทั้งโซนป่า-พื้นที่ติดคดีรุกป่า ด้าน ‘มูลนิธิสืบฯ’ย้ำลดพื้นที่ป่าขัดรัฐธรรมนูญ-นโยบายป่าไม้ชาติ อัดกระทรวงเกษตรฯ พยายามแปลงที่อุทยานฯ เป็น ส.ป.ก.
วันที่ 8 ก.ค.2567 จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค.2567 นั้น
ล่าสุดเรื่องนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯทำทั้งหมดไปตามขั้นตอนที่มติครม.กำหนด หากได้ข้อยุติการรับฟังความเห็นสำนักอุทยานแห่งชาติก็จะรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
คาดว่าจะจัดประชุมคณะกรรมการอุทยานฯได้ใน 1-2 เดือนหลังจากนี้ เบื้องต้นส่วนการรับฟังความเห็นในพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4-5 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์กรมอุทยานฯจะสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค.นี้ ล่าสุดวันนี้ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯแล้ว 6-7 หมื่นคน คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการเปิดรับฟังความเห็นน่าจะมีผู้แสดงความเห็นถึงหลักแสนคน
เมื่อถามถึงกรณี วันนี้กระแสโซเชียลมีความตื่นตัวประเด็นนี้อย่างมากและมีการขึ้น ” #saveทับลาน ” ไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่ป่าอุทยานฯทับลาน 265,000 ไร่นั้น นายอรรถพล กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนตื่นตัวและให้ความสนใจในเรื่องนี้ ส่วนความเห็นที่ประชาชนระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนอุทยานฯทับลานจะถูกนำไปประกอบการพิจารณาอย่างไรนั้น ก็ต้องนำเสนอภาพรวมให้คณะกรรมการอุทยานฯ รับทราบและรับฟังว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร
ต่อข้อถามว่า ความเห็นของประชาชนจะมีน้ำหนักในการพิจารณาหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ก็คงนำไปสู่การหาทางเลือกที่ดีที่สุดของคณะกรรมการอุทยานฯต่อไป
เมื่อถามว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงกลายเป็นประเด็นใหญ่จนติดอันดับแพลตฟอร์ม X นายอรรถพล กล่าวว่า จะว่าอย่างไรกันก็ตาม กรมอุทยานฯ ก็รับความคิดเห็นนั้นมาพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการอุทยานฯก็จะทำหน้าที่พิจารณาอยู่แล้ว แต่ก็ดีใจที่คนไทยมีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ คิดว่าอะไรที่เป็นความถูกต้อง เหมาะสมคนจะเลือกเอาสิ่งนั้น
ด้านแหล่งข่าวจากอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า เดิมทีมีแนวคิดที่จะเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 58,000 ไร่ บริเวณป่าวังน้ำเขียวให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร(ส.ป.ก.)โดยใช้แผนที่ วันแม็พ (one map) มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ซึ่งในตอนนั้นสามารถเข้าใจและยอมรับได้เพราะในพื้นที่ 58,000 ไร่นั้น มีการทับซ้อนของที่ประชาชนและทางส.ป.ก.เองก็แสดงความต้องการมาตรงๆอยู่แล้ว
” แต่ต่อมากลับไม่เป็นแบบนั้น คือมีการมาทุบเอาเลยว่า จะต้องเอาที่ 265,000 ไร่จากพื้นที่อุทยานทับลานทั้งหมด 1.4 ล้านไร่ คือ รวบหมดทุกที่ทั้งที่เป็นโซนป่า โซนที่ทับซ้อน และโซนที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ส่วนที่มาของตัวเลข 265,000 ไร่นั้นมาจากไหน คือเป็นไปตามมติครม.14 มี.ค.2566 ที่อ้างว่า เห็นชอบตามมติ คทช. จากการสำรวจปี 2543 โดยแผนที่วันแม็พซึ่งเป็นการอ้างที่ขาดหลักการอย่างแรง เพราะวันแม็พที่สำรวจปี 2543 เป็นเส้นแผนที่ๆ ทำเอาไว้ไม่ให้คนบุกรุกเพิ่มเติม ”
ขณะที่ นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานนั้น มีปัญหาภายในพื้นที่นั้นมีมากมายซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับการประกาศพื้นที่ซ้อนทับกับเขตบริหารเดิมที่มีจุดประสงค์ในการใช้ที่ดินอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ต่างก็ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของตนเอง จึงเกิดปัญหาคาราคาซังระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น แนวเขตป่าไม้ของอุทยานฯ ซ้อนทับกับ ส.ป.ก. การเกิดโครงการที่มีพื้นที่เกี่ยวของกับเขตอุทยานฯ อย่างโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) หรือ โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ.) โดยส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ดำเนินมาถึงปัจจุบันคือการรับผิดชอบพื้นที่นอกเหนืออาณาเขตหน่วยงานอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีหลายครั้งกับผู้ถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย
ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวต่อว่า การประชุมของคณะกรรมการอุทยานฯครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาวาระเรื่องเพื่อทราบ การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานฯ โดยประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานฯ มาแล้ว 2 ครั้ง โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
“ที่ประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอข้อมูล มติครม.เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ที่ได้เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปีพ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลานถึง 265,286.58 ไร่
โดยปกติแล้ว การประกาศพื้นที่ส.ป.ก.ได้นั้นจะต้องมาจากกฤษฎีกาและจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมชัดเจน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าสงวนฯที่เกิดความเสื่อมโทรม กรมป่าไม้ก็ต้องทำเรื่องยกพื้นที่นี้ให้กับส.ป.ก. นำไปจัดสรรต่อ ภายใต้กติกาที่กำหนดร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งสัดส่วนชัดเจนกับพื้นที่ที่คงสภาพเป็นป่าชัดเจน ในปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ส.ป.ก.ส่วนไหนเลยส่งคืนให้กรมป่าไม้ในสภาพที่เป็นป่าเลยแม้แต่พื้นที่เดียว แต่กลับพบการออกที่ดินโดยส.ป.ก.อย่างมิชอบ”
นายภานุเดช กล่าวต่ออีกว่า ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสถานะของพื้นที่จากพื้นที่อุทยานฯให้กลายเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ขัดต่อการดำเนินงานของคณะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องของชุมชนในพื้นที่ป่า หากเราดูตามพื้นที่เดิมของอุทยานฯทับลานซึ่งเป็นป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. 2506 ซึ่งถูกสงวนไว้สำหรับเรื่องของการคุ้มครองพื้นที่ป่า
อีกทั้งภาพถ่ายทางอากาศแทบจะไม่พบเรื่องของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เลย ยกเว้นส่วนพื้นที่ของวังน้ำเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยานอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นป่าไม้ถาวรแล้วการจะดำเนินการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพใดก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการผ่าน ครม. โดยจะต้องออกมาเป็นมติในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ และต้องมีกรมป่าไม้เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการในส่วนนี้
“ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของที่ดินเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มคนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานซึ่งพวกเขาควรมีสิทธิ์ตามกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต่อมาคือกลุ่มคนที่ได้เอกสารสิทธิ์ที่ดินไปแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศเขตโดยบางคนได้มีการขยายหรือจับจอง เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพื้นที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีการตกลงกันไว้ และสุดท้ายคือกลุ่มคนที่เข้ามาครอบครองอย่างผิดกฎหมาย เช่น กลุ่มทุนที่เข้ามาพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นธุรกิจก็ต้องถูกนำพาออกไปจากพื้นที่นั้น
ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นโดยส่วนมากการกระทำอันใดที่เป็นการลดพื้นที่ป่านั้นก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 65 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าในช่วงปี พ.ศ.2566 – 2570 ร้อยละ 33 และในห้วงปี 2576-2580 ต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศและขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หากเราไม่พิจารณาพื้นที่ให้ละเอียดถี่ถ้วนในการเพิกถอน ก็อาจจะเสียบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาระดับประเทศในลักษณะที่จะเพิกถอนพื้นที่อื่นๆต่อไป อาจจะเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายย่อย นายภานุเดช ระบุ
อ่านข่าว มูลนิธิสืบฯ-โลกออนไลน์ แห่ค้าน เพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.65 แสนไร่