“ลุงโชค” แกนนำนักอนุรักษ์ผืนป่าทับลาน ชี้ปัญหาข้อพิพาทผืนป่าเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านถูกจับกุมไม่เป็นธรรม ยืนยันพื้นที่ที่ถูกจัดการ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านก่อนประกาศเขตอุทยานฯ เรียกร้องให้รัฐประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่แท้จริง
วันที่ 11 ก.ค.2567 จากกรณีรัฐบาลเตรียมกันพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 2 แสนไร่ ออกมาเพื่อออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้กับชาวบ้านที่ยังมีข้อขัดแย้งว่าบุกรุกที่อุทยานฯหรืออุทยานฯประกาศทับที่ชาวบ้านหรือไม่ ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านกับนโยบายนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน
โดยเรื่องนี้ที่สวนไผ่ลุงโชค อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นายโชคดี ปรโลกานนท์ หรือ ลุงโชค นักอนุรักษ์ ผู้มีส่วนในการพลิกฟื้นผืนป่าเขาแผงม้า และอดีตผู้นำชาวบ้านพลิกฟื้นผืนป่ากว่า 10,000 ไร่ บนอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.วังน้ำเขียว ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ปัญหาข้อพิพาทนี้ เกิดจากความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาล ว่า จะเอาเช่นไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายด้านความมั่นคง หรือส่งเสริมการท่องเที่ยว หรืออนุรักษ์ผืนป่า
” เพราะแต่ละยุคแต่ละสมัยก็แตกต่างกันไป เพราะยุคแรกก็เน้นไปที่นโยบายด้านความมั่นคง โดยย้ายประชาชนมาอยู่เพื่อกันพื้นที่คอมมิวนิสต์ พอเวลาผ่านไปก็บอกว่า จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ชาวบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนอาชีพให้เข้ากับนโยบายการท่องเที่ยว หลังจากนั้นก็มาเน้นที่การอนุรักษ์ผืนป่าอุทยานฯ โดยการประกาศเขตอุทยานฯทับที่อยู่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว จึงโดนจับกุมดำเนินคดีบุกรุกอุทยานฯ กันเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
ซึ่งข้อเท็จจริง ผมอยู่ที่นี่มานานรู้ดี ถ้าเป็นการเฉือนผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ออกมา ผมนี่แหละจะเป็นคนแรกที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านสุดชีวิต แต่ข้อเท็จจริงพื้นที่ที่เขาจัดการออกมานั้นไม่มีความเป็นผืนป่าหลงเหลืออยู่แล้ว เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่มาตั้งชุมชนอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานฯแล้ว ในอดีตบริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่งต.ไทยสามัคคีนั้น เป็นภูเขาที่ไม่ได้มีป่าอุดมสมบูรณ์นัก ส่วนหมู่บ้านไทยสามัคคีดั้งเดิมนั้น อยู่ลึกจากเขต One Map ปี พ.ศ.2543 ออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร หรือที่ชาวบ้านเรียก “เขตมูลหลงมูลสามง่าม” เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำน้ำมูล พอเกิดปัญหาด้านความมั่นคง กองทัพภาคที่ 2 ก็ย้ายชาวบ้านมาอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านไทยสามัคคีในปัจจุบัน
ต่อมาปี พ.ศ.2540 ผมได้ไปเห็นสภาพพื้นป่าบริเวณดังกล่าวเสื่อมโทรม ประกอบกับที่ขณะนั้นตนได้ทำการฟื้นฟูผืนป่าเขาแผงม้าได้สำเร็จจึงได้นำโมเดลนี้ไปใช้ นำชาวบ้านขึ้นไปปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ขณะนั้นก็ได้กำลังจากชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านไทยสามัคคีปัจจุบัน ช่วยกันเป็นอาสาสมัครขึ้นไปปลูกป่ากันเป็นจำนวนมาก หลายครอบครัวอาสาเข้าไปปลูกป่าทุกวัน เป็นระยะเวลา กว่า 3 ปี จนสามารถขยายพื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้มากกว่า 10,000 ไร่
ได้กำลังชาวบ้านเหล่านี้ช่วยเป็นอาสาสมัครดับไฟป่า ดูแลผืนป่าช่วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯซึ่งมีกำลังไม่เพียงพอ มีการปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านและเยาวชนรักผืนป่าอย่างเป็นรูปประธรรม ดังนั้นชาวบ้านเหล่านี้จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสภาพป่าในเขตอุทยานทับลานเป็นอย่างมาก แต่จากนโยบายขณะนี้ ทำให้ชาวบ้านหลายคนที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์เหล่านั้น ต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ขึ้นโรงขึ้นศาลกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านเลย”
ลุงโชค บอกด้วยว่า กรณีที่มีแคมเปญ #Saveทับลาน จนติดเทรนด์ในโซเชียลขณะนี้นั้น ตนมองว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท ดังนั้นเรื่องนี้ ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนก่อน เพราะถ้าเสนอแค่ข้อมูลด้านการอนุรักษ์ส่วนเดียว ประชาชนจะเกิดความสับสน เพราะการอนุรักษ์ถือว่าเป็นกระแสที่แรงมาก
คนที่แชร์โพสต์เซฟทับลานจะดูเป็นคนดีในสายตาของชาวโซเชียลขึ้นมาทันที แต่ชาวบ้านที่เขาอยู่ในพื้นที่ซึ่งเขาช่วยปลูกป่า ช่วยอนุรักษ์ผืนป่า และช่วยดับไฟป่า กลับถูกตราหน้าว่า เป็นผู้ร้ายในสังคมไปแล้ว
ส่วนข้อกังวลเรื่องจะมีนายทุนเข้ามาถือครองพื้นที่นั้น ก็มีกฎหมายที่จะดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์และดำเนินคดีได้อยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่การมาเหมาเข่งรวมกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นการกันที่เขตอุทยาฯ ตาม One Map ปี พ.ศ.2543 จึงเป็นทางออกที่ดีแล้ว
อ่านข่าว ไม่ใช่ป่าอยู่ก่อนแล้ว! ชาววังน้ำเขียวโอดเป็นจำเลยสังคม แจงไทม์ไลน์โต้ข้อหารุกทับลาน