นครราชสีมา ชาวบ้านวังน้ำเขียวกังวล เหตุผลสำรวจไม่เห็นด้วยเฉือนทับลาน นักอนุรักษ์ มองรับฟังความคิดเห็นไม่เป็นธรรม แนะหาทางออกร่วมกัน
14 ก.ค. 67 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่อุทยานแห่งชาติทับลานได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมไปถึง ประชาชนทั่วไปที่สามารถให้ลงชื่อแสดงความคิดเห็นในการเพิกถอนพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ ออกจากอุทยานแห่งชาติทับลาน
ซึ่งปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา และมีประชาชนเข้าไปร่วมโหวตทั้งสิ้น 947,107 คน โดยผลสรุปคือ ประชาชน จำนวน 901,892 คน โหวตไม่เห็นด้วย คิดเป็น 95.2% และมีประชาชนที่โหวตเห็นด้วย เพียง 45,215 คน คิดเป็น 4.8%
ซึ่งจากผลลัพธ์ความคิดเห็นดังกล่าว ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ต่างเข้าใจและรู้ผลลัพธ์อยู่แล้วว่า จะต้องออกมาในลักษณะนี้ แต่ก็รู้สึกกังวลว่า ผลของความคิดเห็นดังกล่าวจะส่งผลต่อการตัดสินใจพิจารณาเพิกถอนพื้นที่อุทยานทับลานหรือไม่
ล่าสุด ผู้สื่อข่าว ลงพื้นที่ ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสอบถามความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่หลังจากรับทราบผลรับฟังความคิดเห็นที่ออกมาแล้ว
นายกิตฌพัฒน์ จ้ายนอก ชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่า ตนเข้าใจและยอมรับว่า ผลของการสำรวจความคิดเห็นที่ออกมาในแนวทางนี้ ซึ่งมีคนไม่เห็นด้วยคัดค้านเป็นจำนวนมาก และรู้สึกกังวลว่า ผลของการลงความคิดเห็นนี้ จะมีส่วนในการพิจารณาเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ กว่า 2.6 แสนไร่หรือไม่
ซึ่งส่วนตัวมองว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่มีความยุติธรรมและไม่มีความเป็นธรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากคนที่มาลงชื่อส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาท จึงทำให้ไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจก่อนลงความเห็น ตนจึงอยากฝากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้
ขณะที่ นายบริพัตร สุนทร นักอนุรักษ์ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในมุมมองของตน นอกจากเซฟทับลานแล้ว ยังมองว่าเรื่องนี้ควรจะต้องเซฟชาวบ้านในพื้นที่ด้วย และก็รู้สึกดีใจที่ประชาชนตื่นตัวในการอนุรักษ์ป่า
แต่ตนมองว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่ค่อยยุติธรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะไม่ได้มีข้อมูลหรือความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ให้คนที่มาลงชื่อได้ทำความเข้าใจ และการเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ตนมองว่า ควรจะมาจากหน่วยงานทางราชการที่เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง มากกว่ากรมอุทยานฯ จะมาเปิดรับฟังความคิดเห็นเอง
นายบริพัตร กล่าวต่อว่า ผลพวงของเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะกระทบกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่อยู่ในพื้นที่กับกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ในกลุ่มชาวบ้านบางคนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น หลายรายเป็นกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำมูล ซึ่งเคยร่วมกันปลูกป่า ร่วมกันดับไฟป่า รวมไปถึงร่วมเฝ้าระวังต่างๆ และดูแลสัตว์ป่าในพื้นที่ด้วย
ลำพังเพียงอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ไม่สามารถที่จะดูแลเรื่องต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ยิ่งถ้าต้องมาดูแลบริหารชุมชนด้วย ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติงาน ทำให้มีภาระหน้าที่มากจนเกินไป ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นมีมายาวนานหลาย 10 ปี
จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรึกษาหารือหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านในพื้นที่เองก็มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ด้วยเช่นกัน ถ้าสามารถหาทางออกให้คนกับป่าและเจ้าหน้าที่อยู่ร่วมกันได้ ก็จะส่งผลดีในการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ฯ ก็จะมีเวลาไปดูแลรักษาป่าได้อย่างเต็มที่