นครศรีธรรมราช ผู้เลี้ยงกุ้งกระอัก น้ำป่าทะลักจม 6 บ่อเลี้ยง เสียหายทันที 5 ล้าน เร่งกู้สุดฤทธิ์หวังดึงทุนคืน เทศบาลเมืองนครฯ ประกาศเตรียมรับมวลน้ำเทือกเขาหลวง ไหลหลากเขตเมือง
14 ธ.ค. 67 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีการแจ้งเตือนว่า มวลน้ำจากเขาหลวงจะไหลเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ช่วงเวาลา 21.00 น. วันเดียวกันนี้
โดยสภาพน้ำที่ถนนเทวบุรี ก่อนถึงถนนพาดรางรถไฟ ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง มีระดับน้ำข้ามถนนแต่ยังสามารถผ่านไปมาได้ ขณะที่ถนนเลียบทางรถไฟ เส้นทางระหว่าง ต.โพธิ์เสด็จ และ ต.มะม่วงสองต้น อ.เมือง นั้น น้ำท่วมถนนระยะทางกว่า 500 เมตร รถเล็กผ่านไปมาอย่างยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมืองนครฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาสาธารณภัย เข้าทำการรื้อสิ่งกีดขวางตามท่อระบายน้ำ เพื่อให้การระบายเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมมีการตั้งเครื่องผลันดันน้ำตามคลอง 5 สายหลักในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช หลังจากได้มีการแจ้งเตือนจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 กรมชลประทาน ได้ออกประกาศเรื่องแจ้งเตือนให้เตรียมรับมือน้ำที่กำลังเข้าสู่เขตเทศบาลเมืองนครฯ
ส่วนที่ ต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช น้ำได้ทะลักเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งเอ็นเอสดับเบิลยูฟาร์ม 4 โดยผู้เลี้ยงกุ้งไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน เนื่องจากปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลทะลักเข้าท่วมบ่อเลี้ยงกุ้งรวม 6 บ่อ ซึ่งอยู่เชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็ว มีบ่อที่เตรียมจับขายในอีกไม่กี่วันข้างหน้ามูลค่าเกือบ 2 ล้านบาทได้รับความเสียหายด้วย แม้เจ้าของพยายามจะนำตาขายมาติดตั้งป้องกันรอบบ่อแต่ไม่ทันการ น้ำได้หลากเข้าท่วมประมาณ 2 ชม. ก่อนจะลดระดับลง
สำหรับ ฟาร์มกุ้งดังกล่าวมี นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว หรือ อาจารย์หนู เป็นเจ้าของ ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงลูกกุ้งและเลี้ยงกุ้งจำหน่ายครบวงจร ระบุว่า น้ำหลากเร็วมาก เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บ่อแรกเป็นบ่อเพิ่งลงทุนได้ไม่กี่วันเป็นลูกกุ้งเสียหายอย่างสิ้นเชิง
ส่วนบ่อถัดไปถึงเวลาจับขายมีมูลค่าเสียหายรวมแล้วราว 5 ล้านบาท แค่ประมาณ 30 นาที ที่น้ำหลากเข้ามาในบ่อกุ้งทำให้เสียหายหนัก หลังจากน้ำลดต้องดูว่า จะดึงทุนกลับคืนมาได้บ้างหรือไม่ ต้องแก้ไขปัญหาเติมออกซิเจนให้มากที่สุด บางบ่อไม่สามารถเปิดเครื่องตีน้ำได้ ต้องระวังชั้นน้ำเค็มและน้ำจืดไม่ให้รวมตัวกัน ซึ่งต้องประเมินอีกครั้ง
สำหรับพื้น ตำบลเสาเภา อ.สิชล กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำป่าหลากมาจากเทือกเขาหลวงชั้นใน ผ่านลุ่มน้ำคลองท่าทน คลองท่าเชี่ยว ตำบลเสาเภา เป็นพื้นที่ท้ายน้ำก่อนที่จะระบายลงสู่อ่าวไทย