ก.แรงงาน ไฟเขียว ‘เวิร์กฟอร์มโฮม’ ช่วงฝุ่น PM2.5 ฟุ้งหนัก ย้ำชัดไม่นับเป็น วันลา-หยุด แจง 4 หลักการสำคัญ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8)

23 ม.ค. 68 – จากกรณีที่มีมาตรการป้องกันและการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยมีการพิจารณาถึงการใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 เกี่ยวกับการประกาศใช้ เวิร์กฟอร์มโฮม (Work From Home : WFH) เป็นการขอความร่วมมือ โดยไม่มีการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เขตกรุงเทพฯและปริมณฑลได้เริ่มประกาศให้มีการ WFH บางแห่งแล้วนั้น

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน มีความเป็นห่วงผู้ใช้แรงงาน ช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 สำหรับผู้ใช้แรงงานนอกสถานประกอบกิจการ และอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการทำงาน

“กระทรวงแรงงาน จะเตรียมการประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และนายจ้าง-สถานประกอบการ เพื่อเตรียมตัวรับมือสถานการณ์ฝุ่นและมลพิษทางอากาศ และการใช้มาตรการ WFH แต่เบื้องต้น ยังไม่มีรายละเอียดมาตราการ หรือการออกข้อบังคับการ WFH อย่างชัดเจน” นายบุญสงค์ กล่าว

ด้าน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการ WFH ถือว่าเป็น วันทำงานปกติ เนื่องจากเป็นการที่ นายจ้าง มอบหมายงานทำงานนอกสถานประกอบกิจการ โดยไม่ถือว่า เป็นวันลา หรือ วันหยุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงานได้สนับสนุนการทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม (Work from Home) โดยได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น จึงมีการกำหนด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้างและลูกจ้าง สามารถตกลงกันในการทำงานที่บ้าน หรือสถานที่อื่นนอกเหนือจากสถานประกอบกิจการได้ โดยการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย

โดยหลักการสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566 ในมาตรา 23/1 มีสาระดังนี้ คือ

1. นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันให้ลูกจ้างสามารถทำงานนอกสถานประกอบกิจการหรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้ โดยลูกจ้างสามารถนำงานดังกล่าวไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ ได้

2. กำหนดให้การตกลงทำงานแบบ work from home ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ต้องทำเป็นหนังสือหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง

โดยตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นที่มาจากการทำงานด้วย

3. เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิในการปฏิเสธการติดต่อสื่อสารไม่ว่าทางใดๆ กับนายจ้าง รวมถึงหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติหรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน

4. ลูกจ้าง ซึ่งทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ หรือสำนักงานของนายจ้าง ถือว่า ลูกจ้างที่ทำงานแบบ work from home ต้องได้รับสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน