โคราช จับมือเผา 15 ราย เผาพื้นที่การเกษตร นำตัวมาลงโทษ เผยพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้วอดแล้ว 6,016 ไร่ ทำค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งเกินมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.68 ที่ห้องประชุมท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หลังจากในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน
จากรายงานของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา พบว่าสถานการณ์ไฟป่า ในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1-25 ม.ค.68 มีการเกิดไฟป่า จำนวน 25 ครั้ง พื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ 6,016 ไร่ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการหาของป่า โดยอำเภอที่พบการเกิดไฟป่ามากที่สุด คือ อำเภอครบุรี จำนวน 2,453 ไร่ รองลงมาคืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอปากช่อง อำเภอละ 1,700 ไร่
โดยจับกุมดำเนินคดี กรณีเผาพื้นที่การเกษตร รวม 10 อำเภอ ได้แก่ อ.พิมาย อ.ห้วยแถลง อ.คง อ.ขามทะเลสอ อ.โนนไทย อ.เทพารักษ์ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ปากช่อง อ.เมืองนครราชสีมา และอ.หนองบุญมาก และมีการดำเนินคดีผู้กระทำความผิด จำนวน 5 ราย และแจ้งความดำเนินคดี เพื่อสืบหาและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ จำนวน 10 ราย
นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของประชาชน จังหวัดนครราชสีมา จึงแจ้งให้อำเภอยกระดับมาตรการควบคุมการเผา เพื่อลดผลกระทบจาก ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน และเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ไม่ว่าจะเป็น ด้านการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจจับรถควันดำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมือง และเส้นทางสายหลัก ด้านการควบคุมพื้นที่การเกษตร ให้ชี้แจงทำความเข้าใจ และป้องปรามเกษตรกรเจ้าของนา และผู้มีรถแทรกเตอร์ เพื่อการเกษตร และเครื่องอัดฟางในพื้นที่ จัดทำบัญชีกลุ่มเกษตรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเผาพื้นที่เกษตรและเชิญกลุ่ม
เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวที่ยังไม่มีการเผาพื้นที่มาพูดคุยขอความร่วมมือเรื่องการงดการเผา และมาตรการทางกฎหมาย กรณีการเผาโดยประสานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ร่วมชี้แจงด้วย ด้านการควบคุมมลพิษจากการก่อสร้าง ให้จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ และให้ปฏิบัติตาม พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำชับ ตรวจสอบ กรณีการขออนุมัติ อนุญาต การก่อสร้างในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
และด้านการควบคุมมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม กว่า 1,700 แห่ง ให้เจ้าพนักงานออกตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตาม พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และพรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นายสุรพันธ์ กล่าว