ตำราจีนบนผ้าไหม อายุ 2,300 ปี ไปโผล่อยู่ในอเมริกา

ตำราจีนบนผ้าไหม – นิวยอร์กไทม์เผยแพร่บทความเส้นทางของตำราต้นฉบับเขียนมือจารึกบนผิวไผ่และผ้าไหม หรือตำราฉู่ อายุกว่า 2,300 ปีมาแล้ว ด้วยคำถามว่าถูกลักลอบนำออกจากประเทศจีน จนมาอยู่ในห้องเก็บของใต้ดิน ของห้างสรรพสินค้าในกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันได้อย่างไร

หลายสิบปีมาแล้วหลังตำราโบราณดังกล่าวมีผู้ค้นพบ สร้างความตื่นเต้นให้คนที่ต้องการเข้าใจกำเนิดของอารยธรรมจีน อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสวรรค์ สภาพตัวหนังสือหมุนวนคล้ายดาวหลายดวงทั่วท้องฟ้า แต่ไม่สามารถเอาออกมาให้ประชาชนดูได้ เพราะอยู่ในสภาพเปราะบาง

จนปัจจุบันนักประวัติศาสตร์จีนและนักโบราณคดีได้ปะติดปะต่อเส้นทางของตำราดังกล่าว โดยรายงานการวิจัยจำนวน 440 หน้าตามรอยต้นกำเนิดตำราจากโจรปล้นหลุมศพ ซึ่งค้นพบตำราระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงพ่อค้าวัตถุโบราณที่ภรรยาและลูกสาวเสียชีวิตระหว่างที่หนีตายจากกองทัพญี่ปุ่นที่รุกรานจีน

รวมถึงระหว่างที่อยู่ในมือสายลับสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ลักลอบนำตำราออกจากจีน จนมาอยู่กับมูลนิธิอาร์เธอร์ เอ็ม. แซคเลอร์ ผู้ครอบครองตำราปัจจุบัน โดยตำราเก็บรักษาอยู่ในอาร์เธอร์ เอ็ม. แซคเลอร์ แกลอรี กรุงวอชิงตัน

ศาสตราจารย์หลี่ หลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านตำราจีนโบราณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อายุ 69 ปีเริ่มศึกษาตำราฉู่ ซิลก์ ในปี 2523 โดยถอดความหมายลายมือจากภาพถ่ายและต่อมาเข้าตรวจสอบตำราด้วยตัวเองในสหรัฐ โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้วเริ่มสืบสวนการขุดพบตำรา นำไปสู่การสัมภาษณ์คนปล้นหลุมศพสองคนแรกและได้ตรวจสอบบันทึกที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆในเมืองแคนซัส นครบอสตัน นครนิวยอร์ก กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ

ตำราดังกล่าวมีประโยชน์ต่อจีนเป็นพิเศษเพราะมีอายุย้อนไปตั้งแต่ยุคที่ 7 อาณาจักรทำสงครามกันราวปี 475-221 ก่อนคริสตกาล ก่อนที่ต่อมาจิ๋นซีฮ่องเต้รวบรวมจีนเป็นปึกแผ่น และเป็นช่วงที่ลัทธิขงจื๋อ เต๋าเป็นรูปเป็นร่างขึ้น รวมถึงตำราได้บรรยายลักษณะของเทพเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดที่ชาวจีนบูชาในยุคดังกล่าวไว้ด้วย

ศาสตราจารย์หลี่ต้องการฟื้นฟูประวัติความเป็นมาของตำรา “ผมต้องการสร้างให้ตำราดังกล่าวมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง โดยฟื้นคืนชีพตำราด้วยวิธีทางโบราณคดี” ศาสตราจารย์หลี่กล่าว

ตำราจีนบนผ้าไหม

ในเดือนมิ.ย.ปี 2487 ที่ย่านซือต้านคู่ เมืองฉางชา มณฑลหูหนาน ที่ตั้งรัฐฉู่ในอดีต ทางตอนใต้ของจีน เอกสารถูกขุดค้นพบโดยโจรปล้นหลุมศพ ขโมยขายสมบัติที่ปล้นมาได้ให้พ่อค้าท้องถิ่น ซึ่งจัดแสดงตำราขายภายในร้าน อีกราวๆ ปีกว่าต่อมา นายไช่ จีเซียง พ่อค้าวัตถุโบราณและนักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่นซื้อไป ซึ่งระบุว่า ตะลึงกับความเก่าแก่ของตำรา วัดแล้วขนาดกว้าง 14 นิ้ว ยาว 18 นิ้ว และสงสัยว่ามาจากยุคสงครามของ 7 อาณาจักร จึงหวังว่าจะศึกษาและอาจนำไปขายต่อ

แต่เมืองฉางชาเป็นสมรภูมิที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนในสงครามโลกครั้งที่ 2 นายไช่และครอบครัวร่วมกับชาวบ้านคนอื่นๆอพยพหนีตายออกจากเมือง ม้วนตำราใส่ลงไปในกระบอกเหล็กนำติดตัวไปด้วย

กองทัพญี่ปุ่นจับครอบครัวนายไช่ได้ขณะหาที่ลี้ภัยที่เกาะแห่งหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นพยายามข่มขืนภรรยา ที่ต่อมาหนีมาได้ก่อนที่จะกระโดดบ่อน้ำฆ่าตัวตาย ลูกสาวคนหนึ่งของนายไช่กระโดดตามแม่ไปด้วย ทั้งสองจมน้ำเสียชีวิตในอ้อมแขนกันและกัน

นายไช่กับลูกๆ สี่คนที่เหลือหนีไปอยู่ในเมืองแถบภูเขาใกล้กัน ขณะที่พยายามรับมือกับหายนะที่เข้ามาในชีวิต นายไช่หันมาสนใจ จดจ่อกับตำรา พยายามแก้ปริศนา แม้ไม่สามารถปรึกษาผู้รู้หรือแม้กระทั่งหนังสืออ้างอิงได้ จนพบว่าตำราบรรยายเกี่ยวกับว่ามนุษย์รับมือกับโชคชะตาและความตายอย่างไร จึงเขียนบทความถึงข้อสรุปของตนเองเกี่ยวกับตำรา โดยวาดแผนที่ของย่านซือต้านคู่ ลงไปด้วยจนบทความถูกตีพิมพ์ในปี 2488

ตำราจีนบนผ้าไหม

สองปีต่อมานายไช่เดินทางไปนครเซี่ยงไฮ้เพื่อขายวัตถุโบราณ ญี่ปุ่นแพ้สงคราม แต่จีนติดอยู่กับ
สงครามกลางเมืองและภาวะเงินเฟ้อรุนแรง นายไช่ต้องการเงินอย่างมาก

ในเซี่ยงไฮ้ นายไช่เจอคนคุ้นเคย นายจอห์น แฮดลีย์ คอกซ์ ชาวอเมริกันวัย 34 ปี ทำงานในสมาคมเยล-จีนในทศวรรษ 1930 ซึ่งในขณะนั้นนายค็อกซ์เป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญในหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐก่อนที่จะมีหน่วยข่าวกรองกลางหรือซีไอเอ รวมถึงก่อนที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2484 นายค็อกซ์ถูกส่งไปหาข่าวลับที่เซี่ยงไฮ้

จากหลักฐานจดหมายโต้ตอบที่ศาสตราจารย์หลี่ค้นพบ นายค็อกซ์เป็นนักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่นและนักสะสมผลงานศิลปะ นายค็อกซ์ต้องการซื้อตำราหลังอ่านหนังสือของนายไช่ นายไช่และนายค็อกซ์ ตกลงกันว่า นายค็อกซ์ชำระเงินมัดจำให้นายไช่ก่อน 1,000 เหรียญหรือราว 32,000 บาทและสัญญาจะจ่ายให้อีก 9,000 เหรียญหรือราว 288,000 บาทเมื่อขายตำราได้

ไม่กี่วันต่อมานายค็อกซ์ติดต่อกับเจ้าหน้าข่าวกรองอเมริกันอีกคนให้นำตำรากลับไปสหรัฐ นำผ่านศุลกากรโดยแจ้งว่าเป็นวัตถุโบราณจีน มูลค่าไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งในขณะนั้น การนำเข้าผลงานศิลปะของโจรยังไม่ผิดกฎหมายในสหรัฐ แต่จีนห้ามส่งออกวัตถุโบราณที่ถูกขุดขึ้นมา เพราะจีนถือว่าเป็นสมบัติชาติ

“ยุติธรรมที่จะพูดว่าตำราถูกลับลอบนำออกจากจีน” นายหลาย กัวหลง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฟลอริดา ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายวัตถุโบราณกล่าวและว่า เป็นเพราะว่าตอนนั้นจีนอ่อนแอเกินไปที่จะจัดการ

ด้านนายค็อกซ์เสนอให้ตำราแก่พิพิธภัณฑ์แต่ไม่มีที่ไหนสนใจและ สองสามเดือนต่อมาหลังทำข้อตกลง นายไช่ขอตำราคืน เสนอให้เงิน 32,000 บาท แต่นายค็อกซ์ไม่คืนให้ จนนายไช่บอกว่าจะตามก่อกวนนายค็อกซ์ถึงสหรัฐ นายค็อกซ์จึงยอมทำสัญญา แต่สุดท้ายนายค็อกซ์เบี้ยวสัญญา

หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมามีอำนาจในปี 2492 จีนกับสหรัฐตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันจึงทำให้นายไช่ไม่สามารถไปเจอนายค็อกซ์ได้ ต่อมาในปี 2507 นายค็อกซ์ร้อนเงินจึงขายตำราโบราณไม่ทราบราคาให้นายเจ.ที.ไท่ นักสะสม ตัวแทนของนายอาร์เธอร์ เอ็ม.แซคเลอร์ จิตแพทย์และผู้อุปถัมภ์ผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของสหรัฐ

นายแซคเลอร์ซื้อตำราหลังไปตรวจสอบตำราที่อพาร์ตเมนต์ของนายไท่ ไม่เปิดเผยราคาขาย แต่จากบันทึกชี้ว่านายไท่เรียกราคาตำราจำนวน 500,000 เหรียญหรือราว 16 ล้านบาท ซึ่งต่อมานายแซ็คเลอร์เรียกตำราโบราณดังกล่าวว่าเป็นรายการวัตถุโบราณที่สำคัญมากที่สุดในบรรดางานที่ตนเคยสะสมมา

นายแซ็คเลอร์ตกอยู่ในที่นั่งลำบากจากปมที่มาของตำรา จึงขอให้นายค็อกซ์รวมถึงคนอื่นๆที่เกี่ยวข้องในขบวนการให้รายละเอียดความเป็นเจ้าของตำรา อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานจดหมายชี้ชัดว่านายค็อกซ์ไม่ได้เป็นเจ้าของตำราแต่ขายตำราในฐานะตัวแทนของนายไช่ นายแซคเลอร์พยายามคืนตำราให้จีนอยู่หลายครั้ง แต่ต่อมานายแชคเลอร์เสียชีวิตเสียก่อน ทางมูลนิธิของนายแซ็กเลอร์ จึงเข้ามาจัดการเจรจากับรัฐบาลมณฑลจีน แต่ไม่สำเร็จเพราะตกลงกันไม่ได้ในประเด็นราคา ซึ่งจะมีการเจรจากับรัฐบาลจีนกลางในอนาคตต่อไป

สำหรับศาสตราจารย์หลี่มีโอกาสตรวจสอบตำราเพียงครั้งเดียว สภาพตำราในปัจจุบันมีราขึ้น เพราะไม่ได้รับการดูแล “ผมหวังว่ามันสามารถกลับคืนแผ่นดินจีนได้” “อาจเพียงแค่เยี่ยมเยียน” ศาสตราจารย์หลี่กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน