รอยเท้าไดโนเสาร์ ย่ำกันยุบยับ หลักฐานชี้อยู่กันเป็นกลุ่มคล้ายในหนัง

รอยเท้าไดโนเสาร์ – เว็บไซต์ ไชน่าเดลี รายงานบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารครีเตเชียส รีเสิร์ชว่า จากการพบชุดรอยเท้าในแนวขนานกัน 4 ชุดของไดโนเสาร์ เป็นหลักฐานครั้งแรกว่าไดโนเสาร์อาศัยอยู่เป็นกลุ่มสังคม

นายซิง หลีต้า ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน หัวหน้าทีมและทีมจากประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และเยอรมนี ลงพื้นที่สำรวจรอยเท้าไดโนเสาร์ ที่หมู่บ้านหลีจวง เขตถานเฉิง เมืองหลินอี๋ มณฑลชานตง ภาคตะวันออกของจีน ในเดือนเม.ย. ปีที่แล้ว หลังนายถัง ย่งกัง สมาชิกในทีมพบกลุ่มรอยเท้าใกล้สระขุดในปี 2558

จากนั้นทีมร่วมกันเขียนบทความถึงการค้นพบชุดรอยเท้าไดโนเสาร์ในแนวขนานกัน 4 ชุด ซึ่งเป็นตัวแทนของรอยเท้าไดโนเสาร์มากกว่า 300 รอย เป็นของไดโนนีคัส 70 รอย

ไดโนนีคัสนี้เป็นชนิดกินเนื้อ รูปร่างคล้ายนก เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ระหว่างช่วงต้นครีเตเชียส ราว 115 -108 ล้านปีที่แล้ว พบในพื้นที่ขนาด 6,000 ตารางเมตร ในหมู่บ้านหลีจวง

“รอยเท้าแต่ละรอยยาวราว 8 เซนติเมตร โดยชุดรอยเท้าแนวขนาน 4 ชุดเป็นสัญลักษณ์ว่าไดโนเสาร์หลายตัวเดินทางด้วยกัน ชี้ว่าอยู่เป็นสังคมแบบหนึ่ง” นายซิง หลีต้า ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยธรณีศาสาตร์ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และหัวหน้าผู้เขียนบทความ กล่าว

ก่อนการค้นพบ ปกติแล้วรอยเท้าไดโนนีคัสหลายรอยเกิดจากไดโนเสาร์ตัวเดียว จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามกับหนังอย่างจูราสสิกเวิลด์ ซึ่งฉายภาพไดโนเสาร์อยู่เป็นกลุ่ม แต่การค้นพบใหม่ทำให้หมดข้อสงสัย

รอยเท้าไดโนเสาร์

สำหรับรอยเท้าช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาพบรายละเอียดรวมถึงน้ำหนักไดโนเสาร์ ความเร็วในการเคลื่อนไหวรวมถึงจำนวน นอกจากนี้ในพื้นที่ค้นพบดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลาย จากการพบรอยเท้าของไดโนเสาร์และนก 7 สายพันธุ์ ที่กินทั้งเนื้อและพืช ที่พบอยู่ด้วยกัน

อ่านข่าว :

ฮือฮา! พบไข่ไดโนเสาร์ฝังอยู่ใต้ดินไซต์ก่อสร้างมณฑลเจียงซู คาดมีอายุ 130 ล้านปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน