ช็อกหลักฐาน พม่าข่มขืน-เผาฆ่าโรฮิงยา ส่งศาลอาญาระหว่างประเทศ

ช็อกหลักฐาน – วันที่ 24 มิ.ย. การ์เดียนรายงานความคืบหน้าการเรียกร้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมโรฮิงยาในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ว่า ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (เอแอลอาร์ซี) และองค์กรโอดิการ์ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนในกรุงธากา ของบังกลาเทศ ยื่นเอกสารรวบรวมหลักฐาน รวมทั้งคำให้การของเด็กและผู้หญิงชาวโรฮิงยาระบุถึงข้อมูลอันน่าตกตะลึง ว่าทหารพม่าทั้งข่มขืนและเผาสังหารชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้

ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารพม่าล่วงละเมิดทางเพศอย่างโหดเหี้ยมในช่วงนำกำลังกวาดล้างกองกำลังปลดปล่อยอาระกันโรฮิงยา หรืออาร์ซา เมื่อเดือนส.ค.2560 จนเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงยาอย่างน้อย 6,700 รายเสียชีวิต และกว่า 700,000 คนต้องลี้ภัยหนีตายไปบังกลาเทศ ไปยังสำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ที่กรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ เพื่อรวบรวมสรุปว่าจะดำเนินคดีและให้ความยุติธรรมกับเหยื่ออย่างไร หรือไม่

AFP

ข้อมูลบางส่วนของเอกสารที่ยื่นต่อไอซีซีระบุเรื่องราวสุดสะเทือนใจของเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กหญิงมาร์วา อายุ 10 ขวบ เด็กหญิงชาวโรฮิงยาที่สูญเสียครอบครัวเพราะพ่แม่ถูกทหารยิงเสียชีวิต กล่าวว่าถูกนำตัวไปรวมกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ จากหมู่บ้านเดียวกัน และทหารพม่าพาไปยังโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนจะรุมข่มขืนตนและเพื่อนๆ

arakan project

เหยื่ออีกคนชื่อ น.ส.กุร์ชิดา อายุ 20 ปี ระบุว่าถูกกักตัวไว้กับผู้หญิงชาวโรฮิงยาอีกหลายคน กระทั่งวันหนึ่งเจ้าหน้าที่ทหารพม่านำตัวไปผูกเชือกตรึงกับต้นไม้และข่มขืนซ้ำไปซ้ำมานานหลายวันจนหมดสติ แต่ทหารคิดว่าตนเสียชีวิตเลยนำตัวไปทิ้งนอกค่าย ตนจึงพยายามหลบหนีและรอดชีวิตมาได้ในที่สุด

ด้านน.ส.ซาคีลา อายุ 25 ปี กล่าวว่าเห็นเหตุการณ์ที่ทำให้หัวใจสลาย เมื่อทหารพม่าขังคนในครอบครัวของตนไว้ในบ้านและจุดไฟเผาฆ่าให้ตายทั้งเป็น ส่วนนางนูร์ จาฮาน อายุ 31 ปี ระบุว่าถูกทหารพม่าข่มขืนอย่างรุนแรงหลายครั้ง ซ้ำร้ายยังทำต่อหน้าลูกสาวของตนที่มีอายุแค่ 7 ขวบ

ช็อกหลักฐาน

นางฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุดศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้ผลักดันการสอบสวนกรณีล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงยาในพม่า ระบุว่าแม้พม่าจะไม่ใช่รัฐสมาชิกของไอซีซี แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่ทำให้ชาวโรฮิงยาต้องลี้ภัยข้ามชายแดนจากรัฐยะไข่มายังบังกลาเทศซึ่งเป็นสมาชิกไอซีซีนั้น อาจอยู่ในอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะไต่สวนและดำเนินคดี

ทั้งนี้ รัฐบาลพม่ามีเวลาถึงวันที่ 27 ก.ค.นี้ เพื่อตอบสนองต่อข้อกล่าวหา หรือคัดค้านว่าไอซีซีไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน