ซากช้าง 87 ตัว ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบอตสวานา ฝีมือนักล่าฆ่าเอางา

ซากช้าง 87 ตัว – เมื่อ 3 ก.ย. บีบีซีรายงานว่า พบซากช้าง 87 ตัว ถูกฆ่าอยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโอคาแวนโก เดลตา ในบอตสวานา ประเทศในภาคใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งมีจำนวนประชากรช้างมากที่สุดในโลก แต่กำลังเผชิญปัญหานักล่าสัตว์รุกล้ำชายแดนเข้ามา นับตั้งแต่มีการปลดอาวุธหน่วยป้องกันการล่าช้างไม่นานมานี้

Elephants Without Borders

นักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การช้างไร้พรมแดน ที่ดำเนินการสำรวจสัตว์ป่าเป็นพื้นที่วงกว้าง ระบุว่า ซากช้างจำนวน 87 เชือก ถูกฆ่าเอางาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน และมีแรดเผือก 5 ตัว ถูกล่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ดร.ไมก์ เชส แห่งองค์กรช้างไร้พรมแดน กล่าวว่า จากการสำรวจทางอากาศ พบการล่าช้างขนานใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นในแอฟริกา เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากสำมะโนประชากรช้างที่สำรวจเมื่อปี 2558 พบว่า ในบอตสวานามีการล่าช้างเพื่อรับประทานมากกว่าประเทศอื่นในแอฟริกาถึง 2 เท่า

จากข้อมูลสำมะโนประชากรช้างปี 2558 คาดการณ์ด้วยว่า ในช่วง 10 ปีผ่านมา มีการฆ่าช้างของแอฟริกามากถึง 1 ใน 3 และจำนวนช้างของแทนซาเนียลดลงร้อยละ 60 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

Elephants Without Borders

ทั้งนี้ บอตสวานาเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงการดำเนินการกับนักล่าสัตว์ที่รุกล้ำเข้ามาอย่างเด็ดขาด ด้วยหน่วยป้องกันการล่าช้างติดอาวุธและปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ การล่าช้างในบอตสวานาจึงแทบไม่เกิดขึ้นให้เห็นนัก

แม้ว่าบอตสวานาจะไม่มีรั้วกันแนวชายแดน แต่ข้อมูลจากปลอกติดตามสัตว์พบว่า บรรดาช้างร่นถอยออกจากแองโกลา นามิเบีย และแซมเบีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน มาอาศัยอยู่ภายในเขตแดนบอตสวานาที่ที่คิดว่าปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลบอตสวานาดำเนินการปลดอาวุธหน่วยป้องกันการล่าช้าง หลังจากที่นายม็อกกวีตซี มาซีซี ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ เข้ารับตำแหน่งเพียง 1 เดือน

Elephants Without Borders

เจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่งทำเนียบประธานาธิบดีบอตสวานากล่าวตอนนั้นว่า รัฐบาลตัดสินใจถอนอาวุธทางทหารและอุปกรณ์จากกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าของบอตสวานา แต่กลับไม่มีคำชี้แจงว่าทำไมทำเช่นนั้น

บีบีซีรายงานด้วยว่า บอตสวานามีประชากรช้าง 130,000 ตัว ได้รับการระบุว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งสุดท้ายในแอฟริกาแล้ว แต่การล่าช้างเพื่อเอางาจะทำให้ช้างที่เหลืออยู่ในทวีปแอฟริกาลดลงเรื่อยๆ ซึ่งมีการพบปัญหาดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลังจากที่ดร.ไมก์ เชส พบซากช้างจำนวนมากและงาช้างหายไปใกล้บริเวณชายแดนประเทศนามิเบีย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน