โหดเกินหยั่งถึง! รายงานใหม่ยูเอ็นลงลึก ช็อกวิธีทหารพม่าล้างโรฮิงยา

โหดเกินหยั่งถึง! – เมื่อ 18 ก.ย. เอเอฟพีรายงานว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดรายงานเรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติบทบาททางการเมืองในรายงานฉบับใหม่ที่ลงลึกในรายละเอียด ต่อเนื่องจากรายงานฉบับย่อที่เพิ่งประณามปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าในรัฐยะไข่ เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยา

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีการเรียกร้องให้ศาลอาญากรรมระหว่างประเทศดำเนินการสอบสวนบรรดาผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพพม่า หลังการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ชาวโรฮิงยากว่า 7 แสนคน ต้องหนีตายไปยังบังกลาเทศ ตั้งแต่ปี 2560

แฟ้มภาพ ชุมชนโรฮิงยาในยะไข่ถูกเผา เมื่อส.ค.2560 / Kyodo

รายงานฉบับล่าสุดของยูเอ็นมีทั้งหมด 444 หน้า เป็นการสืบสวนสอบสวนของเชิงลึกของหน่วยเฉพาะกิจของยูเอ็นในพม่า ที่ได้ข้อสรุปว่ากองทัพพม่าจำเป็นต้องเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพใหม่ และดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างกองทัพ เพื่อให้สถาบันทางทหารของพม่าถูกกันออกไป ไม่ให้เข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองในประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทัพยังคงครองที่นั่งในสภาถึง 1 ใน 4 มีสิทธิวีโต้รัฐบาลในประเด็นความมั่นคง และมีอำนาจควบคุมกระทรวงสำคัญอย่างน้อย 3 แห่ง ตามรัฐธรรมนูญ โดยรายงานเรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จี ดำเนินการลบล้างอิทธิพลของกองทัพต่อการเมือง

โหดเกินหยั่งถึง!

(AP Photo, File)

รายงานฉบับลงลึกในรายละเอียดดังกล่าวนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยนายมาร์ซูกี ดารุสมาน หัวหน้าทีมสอบสวนของยูเอ็น ชาวอินโดนีเซีย ชุดค้นหาความจริงการละเมิดสิทธิในเมียนมา หลังจากกองทัพพม่าปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และยืนกรานว่าต้องกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธโรฮิงยา

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่หมู่บ้านในหม่องดอว์ โดยสำนักข่าวเอเอฟพี / AFP PHOTO / STR

แต่การสอบสวนของยูเอ็นพบว่า ทหารพม่าใช้ยุทธวิธีอันน่าสะพรึง เช่น ตีวงล้อมแล้วแยกเพศ สังหารผู้ชายอย่างเป็นระบบ ยิงเด็ก และโยนศพลงแม่น้ำ หรือเผาทำลาย ส่วนผู้หญิงถูกรุมข่มขืนอย่างทารุณทั้งกายและใจ ทั้งถูกกัดรุนแรงทิ้งรอยให้เป็นสัญลักษณ์ตีตรา

หญิงชาวโรฮิงยา Roshid Jan, a Rohingya refugee / REUTERS

“เป็นเรื่องยากที่จะหยั่งถึงระดับความโหดร้ายในปฏิบัติการทัตมาดอว์ที่ไม่แยแสต่อชีวิตพลเรือนอย่างสิ้นเชิง” นายดารุสมานกล่าว ขณะที่รายงานดังกล่าวประเมินว่าจะมีพลเรือนถูกสังหารในปฏิบัติการกวาดล้างครั้งนี้ราว 10,000 ราย

เด็กน้อยจมน้ำตายระหว่างการอพยพมายังบังกลาเทศ / This photo taken on September 28, 2017 . / AFP PHOTO / FRED DUFOUR

นายดารุสมานกล่าวด้วยว่า ลักษณะความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อย่างโหดร้าย และเป็นระบบนี้ เปิดเผยจนเกินข้อสงสัยว่า การข่มขืนถูกใช้เป็นยุทธวิธีในสงคราม เราจึงสรุปว่า การกระทำในปฏิบัติการดังกล่าว รวมถึงกองกำลังความมั่นคงอื่นๆ อยู่ในข่ายของการกระทำฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 4-5 ประเภท เหตุการณ์ทั้งหมดจึงสะท้อนว่า เป็นการเปิดทางให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเจตนา

อ่านข่าวก่อนหน้านี้ :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน