เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เอเอฟพีรายงานว่า ศาลฎีกาอังกฤษอ่านคำวินิจฉัยว่าด้วยกระบวนการ “เบร็กซิต” หรือการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ว่าให้ยืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนพ.ย.2559 กล่าวคือการจะเริ่มกระบวนการใดๆ ให้ถือเป็นอำนาจของรัฐสภาลงมติเห็นชอบก่อน รัฐบาลไม่สามารถเริ่มต้นมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน (สนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป) โดยลำพังได้

นางเธเรซา เมย์ ประชุมครม. เมื่อ 23 ม.ค. REUTERS/Stefan Rousseau/Pool

อย่างไรก็ตามอำนาจของรัฐสภาดังกล่าวหมายถึงรัฐสภาของอังกฤษเท่านั้น ไม่รวมสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ เนื่องจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่มีพันธกรณีผูกมัดกับสภาของแคว้นทั้งสาม

เดวิด นิวเบอร์เกอร์ ประธานศาลฎีกา / AFP PHOTO /

คำตัดสินขององค์คณะผู้พิพากษา 11 คนนี้เท่ากับรัฐบาลของนางเธเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี พ่ายแพ้ในการขออุทธรณ์ ในขณะที่มีกลุ่มประชาชนที่เห็นว่า หากรัฐบาลยังฝืนจะเดินหน้าต่อไปโดยไม่สนใจอำนาจของรัฐสภาจะเท่ากับการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย

 

ต่อมาโฆษกรัฐบาลแถลงว่า เคารพในคำตัดสินของศาล แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะเริ่มการเจรจาออกจากอียูไปตามกำหนดเดิม คือปลายเดือนมี.ค. ตามผลของประชามติ คำตัดสินของศาลไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลานี้ ทางรัฐบาลจะเสนอให้รัฐสภาเร่งกระบวนการอนุมัติการเริ่มขั้นตอนเบร็กซิตโดยเร็ว

 
ด้านนายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงาน ฝ่ายค้านของอังกฤษ กล่าวว่า เมื่อศาลชี้ขาดให้รัฐบาลต้องนำเรื่องเข้าสภา ตนจะใช้โอกาสนี้ต่อรองกับฝ่ายรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายของรัฐบาลในการไปเจรจากับอียู โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องการให้อังกฤษนั้นอยู่ในตลาดเดียวกันกับยุโรปต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน