รู้จักผู้หญิงคนแรก สื่อสารกับชนเผ่าเซนทิเนล ด้วย “มะพร้าว”

รู้จักผู้หญิงคนแรก สื่อสารกับชนเผ่าเซนทิเนล เนชันแนล จีโอกราฟิก รายงานเรื่องราวสารคดีเกี่ยวกับชาวเซนทิเนล หลังเกิดเหตุการณ์เขย่าขวัญที่หนุ่มอเมริกัน จอห์น อัลเลน โช วัย 27 ปี รุกล้ำขึ้นไปบนเกาะนอร์ทเซนทิเนล ซึ่งอยู่ห่างไกลในอ่าวเบงกอล และถูกสังหารอยู่บนเกาะแห่งนั้น เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียไม่กล้าเข้าไปเก็บร่างออกมา เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อทั้งตนเองและคนบนเกาะ

ก่อนหน้านี้ ทางการอินเดียพยายามจะติดต่อชาวเซนทิเนลเพื่อขอให้ยุติการระดมยิงอาวุธออกมาจากตามแนวชายหาด (ช่วงยุค 70 ผู้อำนวยการสารคดีเกี่ยวกับอันดามันของเนชั่นแนลจีโอกราฟิกเคยถูกหอกที่ชาวเซนทิเนลพุ่งออกมาจนบาดเจ็บมาแล้ว)

รู้จักผู้หญิงคนแรก สื่อสารกับชนเผ่าเซนทิเนล

National Geographic

ความพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับชนเผ่าบนเกาะล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่ชาวเซนทิเนลยอมรับมะพร้าวที่ทีมนักมานุษยวิทยานำเข้าไปให้ หนึ่งในนั้นเป็นนักมานุษยวิทยาหญิง ชื่อ มัทธุมาลา ฉัตรโทพัทธเย เป็นนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องชนเผ่าของหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์มาตั้งแต่วัยเยาว์

เมื่อมัทธุมาลาโตขึ้นและเป็นนักมานุษยวิทยา เธอใช้เวลา 6 ปีวิจัยเกี่ยวกับชนเผ่านี้ และตีพิมพ์งานวิจัยกว่า 20 ชิ้น รวมถึงหนังสือ Tribes of Car Nicobar

ระหว่างการเรียนปริญญาเอก นักวิจัยหญิงได้ร่วมทีมเดินทางไปเกาะนอร์ท เซนทิเนล แม้จะถูกทักท้วงว่าการนำผู้หญิงไปด้วย อาจทำให้เกิดการต่อต้านจากชนเผ่าบนเกาะ เธอจึงต้องยืนกรานว่ารู้ถึงความเสี่ยงดี และจะไม่รับเงินชดเชยใดๆ จากรัฐบาลหากบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตอนนั้นพ่อแม่ของนักวิจัยหญิงต้องเขียนจดหมายยืนยันเรื่องนี้ด้วย

เมื่อได้รับอนุญาตให้ร่วมทริป มัทธุมาลาจึงเป็นนักมานุษยวิทยาหญิงคนแรกที่ติดต่อกับชนเผ่าเซนนิเนล

ตอนนั้นเป็นเดือนมกราคม 2534 เราทั้งหมดต่างก็หวั่นใจ เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน ทีมที่ทางการส่งเข้าไปก็เจอปฏิกิริยาไม่เป็นมิตร กลุ่มของเรานั่งเรือเล็กเข้าไป แล้วเลียบไปตามชายหาดว่างเปล่า มุ่งไปยังต้นทางของควัน ตรงนั้นมีชายชาวเซนทิเนลอยู่ไม่กี่คน 4 คนมีหน้าไม้และธนู เดินออกมาที่ชายหาด เราเริ่มลอยมะพร้าวเข้าไปก่อน และน่าประหลาดใจมากที่ชาวเซนทิเนลบางคนเดินออกมาเก็บมะพร้าว” มัทธุมาลา เล่าเหตุการณ์เมื่อ 27 ปีก่อน และว่าบนเกาะแห่งนั้นไม่ได้มีมะพร้าวขึ้นแต่อย่างใด

สองสามชั่วโมงถัดมา ชายชนเผ่าก็เดินจากหาดลงทะเลมาเพื่อเก็บมะพร้าวอีก ส่วนเด็กและผู้หญิงมองอยู่ไกลๆ มีหนุ่มอายุราว 19-20 ปียืนอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่งบนหาด และจู่ๆ ก็ยกหน้าไม้ขึ้น ฉันจึงเรียกพวกเขาด้วยภาษาชนเผ่าเข้ามาเอามะพร้าว เป็นภาษาที่เรียนรู้มาจากชนเผ่าในแถบนั้น จังหวะนั้นผู้หญิงจึงเร่งให้ชายหนุ่มมาเอามะพร้าว ชายหนุ่มจึงยิงธนูลงไปในน้ำ แล้วเดินลุยน้ำลงมาเก็บมะพร้าว”

“ต่อมามีชนเผ่าคนอื่นๆ เดินลงมาแล้วจับเรือ นั่นเป็นท่าทีที่ทำให้เรารู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้กลัวเราแล้ว ทีมงานจึงเดินขึ้นไปบนหาดได้ แต่ชนเผ่าไม่ได้พาไปยังที่บ้านของพวกเขา”

National Geographic

นักวิจัยหญิงมีโอกาสไปเยือนเกาะนอร์ท เซนทิเนลอีกในเดือนถัดมา ปี 2534 เพื่อนำมะพร้าวไปมอบให้และนั่นเป็นสองครั้งเท่านั้นที่ชาวเซนทิเนลมีท่าทีเป็นมิตรกับคนภายนอก

“การไปหนสองใหญ่กว่าครั้งแรก เพราะทางการอยากให้เราทำความคุ้นเคยกับชาวเซนทิเนล ซึ่งชนเผ่าเดินเข้ามาหาเราโดยไม่มีอาวุธ คราวนี้เหมือนจะไม่อยากรอเก็บมะพร้าวแล้ว พวกเขาปีนขึ้นมาบนเรือแล้วเอากระสอบใส่มะพร้าวทั้งหมดไปเลย แม้แต่ปืนไรเฟิลของตำรวจก็พยายามจะเอาไปด้วย เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นชิ้นส่วนโลหะ”

“ส่วนสมาชิกคนหนึ่งในทีมเราพยายามจะขอเครื่องประดับที่ทำจากใบไม้จากชนเผ่า ทำให้ชายคนนั้นโกรธและควักมีดออกมา ทำท่าว่าให้เราออกไปให้พ้นในทันที ดังนั้นเราจึงออกมา”

นักวิจัยหญิงเล่าต่อมา การเยือนครั้งที่สามเจอฟ้าฝนไม่เป็นใจ จึงต้องเลื่อนออกไปอีกสองสามเดือน ทีมงานกลับไปอีก แต่ไม่มีใครอยู่บนหาดเลยแม้แต่คนเดียว จากนั้นมาทางการจึงตัดสินใจลดการเยือนเกาะนอร์ท เซนทิเนลลง เพื่อปกป้องชาวเซนทิเนล ไม่ให้เสี่ยงเจอเชื้อโรคที่พวกเขาไม่มีภูมิคุ้มกัน

สำหรับมัทธุมาลา ปัจจุบันทำงานอยู่กระทรวงยุติธรรมทางสังคม และไม่ได้กลับไปยังหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์มา 19 ปีแล้ว ทั้งไม่สนใจที่จะกลับไปยังเกาะนอร์ท เซนทิเนลอีก

“ชนเผ่าอยู่ที่เกาะแห่งนั้นมาหลายศตวรรษแล้วโดยไม่มีปัญหา ความยุ่งยากเริ่มขึ้นหลังจากเริ่มติดต่อกับคนนอก ชนเผ่าตามหมู่เกาะไม่ต้องการคนนอกเข้าไปปกป้องพวกเราหรอก สิ่งที่พวกเขาต้องการคือปล่อยให้เขาอยู่ตามลำพัง” นักวิจัยหญิงกล่าวทิ้งท้าย

……..

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน