ภรรยาปวดใจ ศาลอุทธรณ์พม่ายกคำร้อง 2นักข่าวรอยเตอร์ถูกขังคุกต่อ

ภรรยาปวดใจเอพี รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ศาลสูงในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ยกคำร้องขออุทธรณ์ของนายว้า ลอน อายุ 32 ปี และนายจอ โซ อู อายุ 28 ปี สองนักข่าวสังกัดรอยเตอร์ จากการถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี ฐานละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ

คำตัดสินของคดีนี้ทำให้พม่าถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากสองนักข่าวทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เปิดเผยข้อเท็จจริง โดยได้ภาพถ่ายหลุมศพและการสังหารหมู่ชาวโรฮิงยา ในหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่ เมื่อเดือนธ.ค.2560

MYANMAR-RAKHINE/EVENTS Handout via REUTERS

การยกคำร้องนี้สร้างความผิดหวังซ้ำอีก ทั้งกับครอบครัวและมิตรที่เดินทางมาศาล รวมถึงเพื่อนร่วมวงการสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง

จิต ซู ภรรยานายจอ โซ อู กล่าวด้วยสีหน้าเศร้า ว่าแปลกใจกับคำตัดสินของศาลมาก เพราะคิดว่าทั้งสองจะได้รับอิสรภาพในวันนี้

“พวกเราคาดหวังว่าจะได้ไปรอรับเขาที่หน้าเรือนจำอินเส่ง เพราะฉันเชื่อมาตลอดว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัว” จิตซู กล่าว

ภรรยาปวดใจ

จิต ซู (ซ้าย) ภรรยานายจอโซอู และ พาน เอมอน ภรรยานายว้าลอน ผิดหวังออกจากศาลสูง นครย่างกุ้ง (AP Photo/Thein Zaw)

ออง หน่าย ผู้พิพากษา กล่าวว่า ทนายความสองนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถยื่นหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า นายว้าและนายจอเป็นผู้บริสุทธิ์จากข้อกล่าวหา

ส่วนนายสตีเฟน แอดเลอร์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวรอยเตอร์ กล่าวว่า คำตัดสินวันนี้เป็นอีกความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับนายว้าและนายจอ ซึ่งยังอยู่ในเรือนจำด้วยเหตุผลเดียว คือ ผู้มีอำนาจพยายามปกปิดความจริง

ทั้งนี้ นักข่าวทั้งสองเป็นนักข่าวที่รายงานข่าวปฏิบัติการของกองทัพพม่าในรัฐยะไข่ที่ทำให้ชาวโรฮิงยามากกว่า 700,000 คน ต้องลี้ภัยไปบังกลาเทศนับตั้งแต่เดือนส.ค.2561

FILE แฟ้มภาพเดือนกันยายน 2561- นายจอ โซอู และ นายว้า ลอน (AP Photo/Thein Zaw, File)

นายคริสเตียน ชมิดต์ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำพม่า กล่าวว่า คำตัดสินนี้น่าผิดหวังมาก และพลาดโอกาสที่จะแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดให้ลูกต้อง ทำให้เกิดความคลางแคลงใจถึงความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม และสำหรับสิทธิของประชาชนที่ควรได้รับข้อมูลข่าวสารและเรียนรู้ข้อเท็จจริง ทางสหภาพยุโรป ขอให้ประธานาธิบดีพม่าทำเรื่องให้นักข่าวทั้งสองได้รับการปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

ด้านทนายของสองนักข่าวกล่าวก่อนหน้านี้ว่า หากอุทธรณ์ไม่ผ่านจะขออภัยโทษ หรือขอนิรโทษกรรมเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว และยังมีเวลา 60 วันที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

….

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รำลึก1ปี สองนักข่าวรอยเตอร์ถูกเล่นงานเข้าคุก ปมภาพสังหารหมู่โรฮิงยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน