ทัพปินส์เจองานหยาบภาคใต้อีก โรดีสั่งลุยบดขยี้สิ้นซากอาบูซัยยาฟ

ทัพปินส์เจองานหยาบภาคใต้อีก – วันที่ 31 ม.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ มีคำสั่งให้กองทัพฟิลิปปินส์เปิดยุทธการทางทหารเต็มรูปแบบอีกครั้งบนเกาะมินดาเนา ทางใต้ของประเทศ เพื่อกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธ หลังเกิดเหตุคนร้ายวางระเบิดโบสถ์ คร่าชีวิตพลเรือน 22 ราย บาดเจ็บนับร้อยคน

การเปิดยุทธการทางทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ครั้งใหม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี หลังฟิลิปปินส์เพิ่งกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธของรัฐอิสลาม หรือไอเอส ในเมืองมาราวีได้สำเร็จ และนำความสงบสุขกลับมาสู่เกาะมินดาเนา

แต่การวางระเบิดล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ทำให้ทางการฟิลิปปินส์คาดว่า เป็นฝีมือของกลุ่มกบฎอาบูซัยยาฟ หรือ เอเอสจี ซึ่งเป็นสาขาที่เคยประกาศสวามิภักดิ์กับไอเอส

ประธานาธิบดีดูแตร์เต กล่าวว่า “ผมสั่งตลอด ให้ทำลายอาบูซาย์ยาฟ ให้ทำลายพวกกบฏคอมมิวนิสต์ ให้ทำลายพวกขบวนการค้ายาเสพติด แล้วก็ถ้าอยากจะรู้ว่าทำลายอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือ ฆ่าทิ้งนั่นแหละ ใช่ครับ ฆ่าทิ้ง”

Philippine President Rodrigo Duterte, center wearing a cap, inspects a Roman Catholic Cathedral on Jolo, Sulu province in southern Philippines, Monday, Jan. 28, 2019 .(Malacanang Palace Via AP)

นายเดลฟิน โลเรนซาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า กองพันทหาราบและหน่วยนาวิกโยธินของกองทัพฟิลิปปินส์รวมกว่า 5,000 นาย กำลังเดินทางลงไปยังเกาะมินดาเนา

ตนมีคำสั่งให้กองทัพอากาศเปิดภารกิจโจมตีทางอากาศเพื่อกดดันและทำลายเป้าหมายกลุ่มอาจาง อาจาง ซึ่งเป็นนักรบของเอสเอสจี

อย่างไรก็ดี ซีเอ็นเอ็นมองว่า ภารกิจกวาดล้างครั้งใหม่ของกองทัพฟิลิปปินส์อาจไม่ง่าย เนื่องมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ความหนาแน่นกระจุกตัวของหน่วยรบเอเอสจี

เอเอสจีนั้นถือเป็นหนึ่งในกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ร้ายดาจที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยก่อเหตุโจมตีในเมืองมาราวี และลักพาตัวชาวต่างชาติเพื่อแลกกับค่าไถ่ จนถึงการสังหารตัวประกันแล้วเผยแพร่คลิป

นายซิดนีย์ โจนส์ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์ความขัดแย้งจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า เอเอสจีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวบ้านท้องถิ่น และกับไอเอส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ระดับโลก ทั้งยังสร้างรายได้ และอำนาจต่อรองกับรัฐให้ชาวบ้าน บริเวณดังกล่าวแทบไม่มีหน่วยงานของรัฐอยู่

ปัจจัยต่อมาเป็นความอยุติธรรมที่ชาวบ้านท้องถิ่นต้องเผชิญมาเนิ่นนาน เป็นความรู้สึกแปลกแยกแตกต่างของชาวมุสลิมที่เป็นคนส่วนน้อย

และมองว่าทำให้ถูกละเลย เลือกปฏิบัติจากส่วนกลางการปกครอง สะท้อนจากผลลัพธ์ประชามติให้จัดตั้งแคว้นบังซาโมโร ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษสำหรับชาวมุสลิมทางใต้ของประเทศอย่างท่วมท้น

นางดาร์ลีน คายาบยับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธวิธีต่อต้านแนวคิดสุดโต่ง กล่าวว่า ชาวมุสลิมทางใต้ของฟิลิปปินส์บางส่วนมีความรู้สึกว่าถูกส่วนกลางเข้ามายึดครองเป็นเวลานานมากแล้ว

เขตปกครองพิเศษที่จะตั้งขึ้นใหม่นั้นอาจไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐส่วนกลาง และรัฐบาลจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเอาชนะใจชาวบ้านท้องถิ่น

โพลสำรวจจากสถาบันเมอร์ดากา เซ็นเตอร์ ของมาเลเซีย เมื่อปี 2561 พบผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์ถึงร้อยละ 6 ที่ระบุว่ายินดีจะใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องหลักความเชื่อของตัวเอง

และกว่าครึ่งคิดว่าการฆ่าตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งพลเรือนผู้บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในการทำสงครามจีฮัด “ไอเอสตระหนักถึงความเห็นเหล่านี้ดี และจะพยายามเข้ามาใช้ประโยชน์จากความรู้สึกเหล่านี้” คายาบยับ ระบุ

ปัจจัยสุดท้าย คือ ลักษณะภูมิประเทศของเกาะมินดาเนาเป็นหุบเขาลาดชันและป่าดิบชื้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ นางคายาบยับ กล่าวว่า กองทัพฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ขาดความเชี่ยวชาญต่อภูมิลำเนาในเกาะมินดาเนา นอกจากนี้ ยังมีเกาะเล้กเกาะน้อยอีกจำนวนมาก ทำให้ยากแก่การควบคุม และลาดตระเวน

นายโจนส์ กล่าวเสริมว่า ปัญหากองกำลังติดอาวุธในภาคใต้ของฟิลิปปินส์นั้นแก้ไขได้ไม่ง่ายเหมือนการชี้นิ้วสั่งของผู้นำฟิลิปปินส์ โดยทางการยังคงมองว่าการมุ่งสังหารเหล่าผู้นำของกลุ่มเอเอสจีนั้นเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลและนำไปสู่การสร้างความอ่อนแอให้กลุ่มติดอาวุธ ทว่า หากสังเกตุจากกลุ่มเอเอสจีใหม่ที่ชื่อว่า อาจาง อาจาง แปลว่า “คนรุ่นใหม”

“นักรบใหม่เหล่านี้มีครอบครัวถูกกองทัพฟิลิปปินส์ฆ่าตายในภารกิจกวาดล้างทางทหารในอดีต แรงผลักดันของนักรบเหล่านี้ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นความต้องการล้างแค้นให้กับบุพการี”

และว่า “เป็นที่ชัดเจนที่สุดว่า ตราบใดที่กองทัพฟิลิปปินส์ยังไม่ตระหนักถึงข้อนี้ ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้จะยังมีต่อไป เราไม่สามารถแก้ไขการก่อการร้ายได้ด้วยการทหารอย่างเดียว” โจนส์ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน