นักวิทย์ถึงบางอ้อ! ภูน้ำแข็งสีเขียวกลางทะเลที่แท้มันคือ…

นักวิทย์ถึงบางอ้อ! – วันที่ 7 มี.ค. เดลีเมล์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการไขปริศนาภูน้ำแข็งสีเขียวที่บรรดานักเดินเรือมักเล่าขานกันว่าพบเจอกันมาตั้งแต่ช่วงต้นปีค.ศ. 1900 และกลายหนึ่งในปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องใช้เวลาศึกษานานกว่า 1 ศตวรรษ กระทั่งล่าสุดทราบแล้วว่าภูน้ำแข็งสีเขียวดังกล่าวเป็นมาจากสาเหตุใด

ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นผลงานจากมันสมองของนายสตีเฟน วาร์เร็น นายคอลลิน โรเอสเลอร์ นายริชาร์ด แบรนท์ และนายมาร์ก คูร์แรน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาธารน้ำแข็งจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาธารน้ำแข็งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1988

กระทั่งต่อมาเดินทางไปที่ธารน้ำแข็งเอเมอร์รี ไปซ์ เชล์ฟ ทางตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ ในปีค.ศ. 2016


คณะนักวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ผลการค้นพบลงในวารสารวิทยาศาสตร์ จีโอฟิสิคัล รีเสิร์ช ภายใต้บทความวิชาการ กรีน ไอซ์เบิร์ก รีวิสิต (Green Icebergs Revisited) โดยผลการศึกษาบ่งชี้ว่าสาเหตุที่ภูน้ำแข็งมีสีเขียวนั้นมาจากสารชนิดหนึ่ง เรียกว่า ไอรอน ออกไซด์ ที่มีสีเขียว และเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ข้อสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับการค้นพบแร่เหล็ก (ไอรอน) จำนวนมากในทวีปดังกล่าวก่อนหน้านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นตั้งทฤษฎีว่าอาจมีสารประกอบอินทรีย์บางชนิด (DOC)

ที่สามารถเปลี่ยนแร่เหล็กให้กลายเป็นสีเขียวได้ แต่การค้นพบล่าสุดนั้นพบว่า สาเหตุที่เป็นสีเขียวนั้นมาจากแร่ไอรอน ออกไซด์ มากกว่า DOC

รายงานระบุว่า ภูน้ำแข็งที่ลอยอยู่กลางทะเลนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของทวีปแอนตาร์กติกามาก่อน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำเค็มที่แข็งตัว ทั้งยังมีสารอินทรีย์และอนินทรีย์จำนวนมาก

ที่ทำให้ภูน้ำแข็งเปลี่ยนสีไปเป็นสีเขียวได้ จากปกติที่มักเป็นสีขาวหรือสีฟ้าอ่อน ซึ่งเกิดจากการดูดซับแสงสีแดงเข้าไปมากจึงคายแสงสีฟ้าออกมาแทน


รายงานของนายวาร์เร็น ระบุว่า การศึกษาธารน้ำแข็งพบว่าบริเวณชั้นล่างๆ ของธารน้ำแข็งทวีปขั้วโลกใต้นั้นมีปริมาณเหล็กสูงกว่าบนพื้นผิวมากถึง 500 เท่า และสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีทำให้ได้ไอรอน ออกไซด์ ที่เป็นสีเขียว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงมีความสวยงามน่าทึ่งเท่านั้น แต่ภูน้ำแข็งกลางทะเลเหล่านี้ที่แตกตัวออกมาสามารถเป็นแหล่งอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล

โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ห่างจากขั้วโลกใต้ เมื่อลอยออกไปไกล และค่อยละลายทำให้แร่เหล็กเหล่านี้ช่วยเพิ่มความอุดสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศน์ในท้องทะเล โดยเฉพาะไฟโตแพลงตอนที่สามารถใช้เป็นสารอาหาร

“เราเคยคิดว่าภูน้ำแข็งสีเขียวเหล่านี้แค่สวยงามเฉยๆ แต่ศึกษาไปๆ มาๆ กลายเป็นว่ามันอาจมีความสำคัญกว่าที่เราคิดไว้ครับ” วาร์เร็น ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน