จักรพรรดินีมาซาโกะ จากเจ้าหญิงผู้ทุกข์ใจ สู่สัญลักษณ์การต่อสู้ของสตรี

จักรพรรดินีมาซาโกะ– เมื่อวันที่ 1 พ.ค. บรรดาสื่อมวลชนทั้งของญี่ปุ่นและนานาชาติ ต่างรายงานพระราชประวัติสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่ของญี่ปุ่น จักรพรรดินีมาซาโกะ อดีตนักการทูตหญิงที่จบจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก ทั้งฮาร์วาร์ดของสหรัฐอเมริกา และออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ว่า ทรงเป็นเจ้าหญิงที่ต้องเผชิญกับปัญหาการปรับตัวในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์มานานกว่า 25 ปี จนกลายเป็นภาวะทุกข์ทรมานใจที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างหนัก

จักรพรรดินีมาซาโกะ ทรงเป็นสาวสามัญชนคนที่สองต่อจากจักรพรรดินีมิชิโกะที่ทรงอภิเษกกับมกุฎราชกุมารญี่ปุ่น พระองค์ทรงงดปฏิบัติพระกรณียกิจเนื่องจากภาวะเครียดและกดดันมานาน 15 ปี ส่วนใหญ่ประทับอยูในพระราชวังโทงุในเขตพระราชฐานอากาซากะ

กระทั่งเริ่มทรงออกงานมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมถึงหมายเสด็จเยี่ยมศูนย์สวัสดิการเด็ก และเสด็จทอดพระเนตรการใช้สัตว์เลี้ยงช่วยบำบัดเด็กที่ป่วย

“ข้าพเจ้าต้องการอุทิศตนเพื่อความสุขชองประชาชน ดังนั้นข้าพเจ้าจะพยายามอย่างที่สุดขณะที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มากขึ้น” จักรพรรดินีตรัสเมื่อครั้งเป็นเจ้าหญิงมาซาโกะ ในวาระครบรอบวันเกิด 9 ธันวาคม 2561

Imperial Household Agency of Japan/Handout via Reuters

อ่านข่าว : เจ้าหญิงมาซาโกะฉลอง 55 ปี ตรัสยังไม่มั่นพระทัย แต่สัญญาจะทำหน้าที่จักรพรรดินีองค์ใหม่ให้ดีที่สุด

มุมมองจากจิตแพทย์

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เจแปนไทมส์ รายงานถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นขององค์มาซาโกะ จากมุมมอง ริกะ คะยามะ จิตแพทย์และอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยริกเกียว กรุงโตเกียวซึ่งเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับพระอาการป่วยทางจิตของเจ้าหญิงมาซาโกะ

คะยามะให้สัมภาษณ์ว่า ขณะไปร่วมชมคอนเสิร์ตการแสดงไวโอลินที่หอแสดงดนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ เธอชะงักไปครู่หนึ่ง เมื่อเห็นพระพักตร์ของเจ้าหญิงมาซาโกะที่ทรงสดชื่น และทรงปฏิสันถารกับผู้ที่นั่งติดกัน รวมทั้ง มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ

Japan’s Empress Masako waves from a vehicle as she arrives with Emperor Naruhito at the Imperial Palace in Tokyo, Japan May 1, 2019. REUTERS/Kim Kyung-Hoon

“พระจริยวัตรของพระองค์ดูเป็นธรรมชาติมาก และตอบสนองสถานการณ์รอบข้างได้เป็นอย่างดี ดิฉันประทับใจอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงหายประชวรและพระอาการดีขึ้นจนปกติ หลังจากที่ตกเป็นเป้าหมายในวงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องเพศและธรรมเนียมปฏิบัติในราชวงศ์เบญจมาศ” จิตแพทย์หญิง กล่าว

มุมมองของจิตแพทย์ท่านนี้ ยังเห็นว่าคนไข้ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกันกับเจ้าหญิงมาซาโกะที่ต้องมีลูกและทำงานในเวลาเดียวกัน และยกย่องว่า เจ้าหญิงมาซาโกะเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการต่อสู้ดิ้นรนของผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นที่ผู้ชายเป็นใหญ่

記者の質問に笑顔でお答えになる皇太子さまと小和田雅子さん=19日午後2時50分、東京・元赤坂の東宮仮御所

แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น

จักรพรรดินีมาซาโกะทรงเป็นธิดาคนโตของนายฮิซิ โอวาดะ อดีตรมช.ต่างประเทศของญี่ปุ่น ทรงจบมหาวิทยาลัยฮาร์วาด ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และศึกษาต่อด้านการเมืองที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ก่อนเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างไปประจำที่อังกฤษ เพื่อทำงานกับองค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี ทรงเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 2 ปี ทรงเคยร่วมคณะเจรจาต่อรองเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ ก่อนเดินทางกลับญี่ปุ่น

記者の質問に笑顔でお答えになる皇太子さまと小和田雅子さん=19日午後2時50分、東京・元赤坂の東宮仮御所

เดือนตุลาคม ปี 2529 ทรงพบกับจักรพรรดินารุฮิโตะ เป็นครั้งแรกในงานเลี้ยงเพื่อรับเสด็จเจ้าหญิงเอเลนาแห่งสเปน และจากนั้นได้ทรงพบกันในงานหลายๆ งานในปีถัดมา แต่ไม่ได้ทรงติดต่อพูดคุยกันอีก จนกระทั่งถึงปี 2535 ที่ทรงพบกันอีกครั้งและทรงคบหาดูใจกัน

ปี 2536 องค์มาซาโกะยุติการเป็นนักการทูตและเสกสมรสกับเจ้าชายนารุฮิโตะ พระองค์ถูกคาดหมายและถูกจับจ้องว่าจะทลายเบ้าหลอมธรรมเนียมปฏิบัติในราชวงศ์ดอกเบญจมาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในราชวงศ์เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ถือชายเป็นใหญ่ลงได้หรือไม่

gettyimages

อดีตนักการทูตชั้นสูงซึ่งพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ปรารถนาที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับนานาชาติด้วยการเสด็จเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ แต่พระองค์ต้องผิดหวัง เพราะถูกห้ามเสด็จเยือนต่างประเทศไกลๆ ต้องทรงงานภายในประเทศ

หลังจากทรงตกพระโลหิต (แท้ง) ในปี 2542 พระองค์มีประสูติกาลเจ้าหญิงไอโกะ ในปี 2544 ท่ามกลางความยินดีของพสกนิกร แต่สถานการณ์กลับไม่ช่วยบรรเทาความตึงเครียดลง เนื่องจากกฎมณเฑียรบาล บัญญัติให้เฉพาะองค์รัชทายาทชายเท่านั้นที่ขึ้นครองราชย์ได้

Crown Princess Masako holds her daughter, Princess Aiko, in March 2002 . | IMPERIAL HOUSEHOLD AGENCY / VIA KYODO

เจ้าหญิงมาซาโกะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าอย่างหนักเพราะไม่มีพระโอรสเป็นรัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์แพทย์วินิจฉัยว่าทรงมีภาวะการปรับตัวผิดปกติตั้งแต่นั้นมา ขณะที่องค์นารุฮิโตะทรงพยายามปกป้องเจ้าหญิงมาซาโกะอย่างเต็มที่

องค์นารุฮิโตะพระราชทานสัมภาษณ์เมื่อปี 2547 ว่า “เจ้าหญิงมาซาโกะทรงพยายามอย่างหนักเพื่อปรับตัวให้เข้ากับพระราชวงศ์มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าคิดว่าเจ้าหญิงทรงเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่งที่จะทำให้ได้ แต่มีพัฒนาการบางอย่างที่ทำให้เจ้าหญิงทรงงานไม่ได้”

จักรพรรดินีมาซาโกะ

Japan’s new Emperor Naruhito and new Empress Masako attend an enthronement celebration ceremony at the Imperial Palace in Tokyo, Japan May 1, 2019. Japan Pool/Pool via REUTERS

พระราชดำรัสดังกล่าวทำให้สาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของราชวงศ์ฝ่ายหญิงภายใต้ธรรมเนียมตามแบบอนุรักษนิยมของพระราชวังอิมพีเรียล

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาของเจ้าหญิงมาซาโกะเป็นความท้าทายของผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากเช่นกัน

นายจุนอิจิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทบทวนกฎมณเฑียรบาลเพื่อเปิดทางให้พระบรมวงศานุวงศ์หญิงได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี ซึ่งเจ้าหญิงไอโกะจะขึ้นครองราชย์ได้

เจ้าหญิงไอโกะ ที่โรงเรียนงากุชูอิน 22 มี.ค.2560 POOL / VIA KYODO

อย่างไรก็ตาม การถกเถียงเรื่องนี้คลี่คลายลง ในปี 2549 เมื่อเจ้าหญิงคิโกะ พระชายาในเจ้าชายอากิชิโนะ ทรงมีพระประสูติกาลเจ้าชายฮิสะฮิโตะ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิิชิโกะ ทำให้กระแสการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลซาลงไป

สังคมผู้ชายเป็นใหญ่

ยูจิ โอตาเบะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณมหาวิทยาลัยชิซูโอกะและผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์ญี่ปุ่นมองว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมปิตาธิปไตย ยกให้ผู้ชายเป็นใหญ่ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ผู้หญิงถูกกดดันให้มีพระประสูติกาลเป็นพระโอรส

เจ้าชายฮิสะฮิโตะ กับพระบิดาและพระมารดา 15 มี.ค.2562 . (Photo by Eugene Hoshiko / POOL / AFP)

ขณะที่ญี่ปุ่นติดอันดับท้ายๆ ในด้านความเท่าเทียมทางเพศ จากการจัดอันดับของ เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม ให้อยู่ในระดับที่ 110 จาก 149 ประเทศ ในปี 2561 และเป็นอันดับต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ จี 7

การสำรวจความเห็นโดยกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นพบว่าผู้หญิงร้อยละ 11.5 มีตำแหน่งในระดับผู้จัดการหรือสูงกว่าในบริษัทที่มีพนักงาน 10 คนหรือมากกว่านั้น

อาจารย์โอตาเบะอธิบายว่าถึงเหตุผลว่าทำไมการถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์รัชทายาทต้องเป็นชายจึงไม่ได้รับการสนับสนุุนอย่างจริงจัง เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ประวัติศาสตร์ไม่ให้ความสำคััญกับผู้หญิง

Picture taken February 14, 2008. REUTERS/Imperial Household Agency of Japan/Handout

ขณะที่นักวิชาการบางคนเห็นว่าราชวงศ์ทั่วโลกทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นเรื่องปกติ แต่นาโอตากะ คิิมิซูกะ อาจารย์มหาวิทยาลัยคันโต กะกุอิน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านราชวงศ์อังกฤษ เห็นด้วยว่าใครก็ตามที่เข้าไปเป็นสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นจะสูญเสียเสรีภาพ รวมทั้งราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรปด้วย

เมื่อมีผู้เข้ามาเป็นสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใหม่ คนๆ นั้นก็จะต้องมีพระประสูติกาลเพื่อให้มีผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์คิมิซูกะกล่าวและย้อนภาพให้เห็นว่าพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน สามัญชนที่เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ในปี 2519

พระราชินีซิลเวียทรงดูแลพระโอรสและพระราชธิดาทั้ง 3 พระองค์อยู่ประมาณ 20 ปี กว่าจะทรงตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลืือเด็กๆ ที่เสี่ยงต่อการทำร้ายและล่วงละเมิดทางเพศ ในปี 2542

Japan’s Emperor Naruhito, Empress Masako, Crown Prince Akishino and Crown Princess Kiko attend a ritual called Kenji-to-Shokei-no-gi, a ceremony for inheriting the imperial regalia and seals, at the Imperial Palace in Tokyo, Japan May 1, 2019, Kyodo/via REUTERS

ฮิเดยะ คาวานิชิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนาโงยา ชี้ให้เห็นเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ราชวงศ์ญี่ปุ่นอนุรักษ์นิยมมากกว่าราชวงศ์ในยุโรป เนื่องจากชาวญี่ปุ่นคาดหวังให้พระบรมวงศานุวงศ์ต้องมีความยุติธรรม เป็นกลางทางการเมือง และปราศจากผลประโยชน์อย่างสิ้นเชิง ทำให้ราชวงศ์ญี่ปุ่นทรงงานการกุศลเหมือนกับราชวงศ์ยุโรปไม่ได้

นอกจากนี้ หลักปรัชญาในสังคมญี่ปุ่นก็ต่างจากสังคมยุโรป โดยระบอบกษัตริย์ในตะวันตกเกิดจากระบอบขุนนางจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าคนที่มีอภิสิทธิ์ต้องมีส่วนรับผิดชอบสังคม ขณะที่ชาวญี่ปุ่นหวังว่าสมาชิกราชวงศ์จะมีความยุติธรรรมและปฏิบัติต่อพสกนิกรอย่างเท่าเทียมกัน

ทรงเยี่ยมผู้ประสบภัยสึนามิที่ศูนย์พักพิงเมืองยามะโมโตะ จังหวัดมิยางิ เมื่อ 4 มิ.ย.2554 | POOL / VIA KYODO

แม้ว่าราชวงศ์ดอกเบญมาศยึดถือค่านิยมอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นเหตุให้องค์มาซาโกะต้องเผชิญปัญหาต่างๆแต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น

คาวานิชิกล่าวว่าการที่พระองค์ทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยธรรมชาติทำให้ประชาชนซาบซึ้งในมหากรุณาธิคุณและเห็นได้ชัดว่าพระองค์เห็นใจความทุกข์ยากของพสกนิกร

อีกทั้งชาวญี่ปุ่นยังรู้สึกใกล้ชิดพระองค์เนื่องจากเข้าใจว่าองค์มาซาโกะต้องก้าวผ่านอุปสรรคนานับประการเหมือนกับพวกเขานั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน