มองข้ามศพบนยอดเขาเอฟเวอเรสต์ ภาพสะท้อนใจนักปีนเขามุ่งบรรลุความฝัน

มองข้ามศพบนยอดเขาเอฟเวอเรสต์เดลีเมล์ รายงานภาพประสบการณ์อันน่าสะท้อนใจ จาก อีเลีย ไซกาลี ชาวแคนาดา นาทีพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ จากฝั่งประเทศเนปาล นอกจากยืนยันรายงานว่า นักปีนเขามากมายต่อแถวยาวเหยียดขึ้นลงยอดเขา จนเพิ่มยอดผู้เสียชีวิต 11 รายใน 9 วันแล้ว เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ยังมีภาพนักปีนเขาเดินข้ามร่างไร้ลมหายใจของเพื่อนร่วมทางบนสันเขาด้วย

ไซกาลี เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ชาวแคนาดา จากกรุงออตตาวา โพสต์รูปพร้อมข้อความว่าตามล่าความฝันและใต้เท้าของทุกคนคือร่างไร้วิญญาณ เอเวอเรสต์กลายเป็นอย่างนี้ไปแล้วหรือ

แม้ผู้เสียชีวิตที่อยู่ในภาพไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร แต่ภายในระยะเวลา 9 วัน มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บนยอดเขาเอเวอเรสต์ หลังจากสภาพอากาศเลวร้ายทำให้ปิดกั้นเส้นทางปีนเขาอยู่นาน กระทั่งอากาศเริ่มดีขึ้น คนจึงทะลักขึ้นไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้มีนักปีนเขาต่อแถวยาวเหยียดในสภาพเหนื่อยล้าและเสี่ยงต่อการที่อากาศในถังออกซิเจนหมด

มองข้ามศพบนยอดเขาเอฟเวอเรสต์

instagram Elia Saikaly

นักปีนเขาส่วนใหญ่ประเมินสาเหตุที่ปีนี้มีนักไต่เขาสังเวยชีวิตสูงมาก ว่า เป็นเพราะสภาพอากาศ บวกกับการขาดประสบการณ์ของนักปีนเขา และการปล่อยให้ธุรกิจขยายตัวเปิดให้นักผจญภัยขึ้นสู่ยอดเขามากเกินไป จนเพิ่มสภาวะอันตรายให้สูงขึ้น

ไซกาลีเผยว่าคณะของเขาเดินผ่านนักปีนเขากว่า 60 คนในช่วงกลางคืนและถึงยอดเขาทางใต้ตอนรุ่งสาง เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่อง ท้องฟ้าใสสลายไอหมอกจนหมดสิ้น หลังจากผ่านก้อนหินใหญ่ ฮิลลารี สเต็ป ซึ่งเป็นอุปสรรคสุดท้ายก่อนถึงยอดเขาสูงสุด ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ ออกซิเจนเบาบางจนเกิดภาวะเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน แขนขาชา จนไม่รู้ว่ายังมีลมหายใจอยู่หรือตายไปแล้ว

ผู้สร้างหนังชาวแคนาดาถ่ายทอดความคิดว่า ขณะที่ทุกคนต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่รอดโดยถามตัวเองถึงความเป็นมนุษย์ จริยธรรมและศีลธรรม เมื่อต้องมองข้ามร่างเหนือหุบเขาเวสเทิร์นคุมทางตะวันตกของเอฟเวอเรสต์ ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความตาย

“หัวใจผมเสียใจให้กับครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รักของผู้สูญเสีย ขณะเดียวกันผมก็รับรู้ว่ามีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป เพราะในระยะเกือบ 9,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลนั้น ไม่มีทางเลือกอื่น

ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างนั้นหรือ บริษัทต่างๆ หรือรัฐบาล มันถึงเวลาต้องใช้ระเบียบใหม่แล้ว มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือมีหนทางแก้ไขหรือไม่ ด้วยความเศร้าสลดใจนี้ สิ่งที่ทำให้คือผลักดันต่อไป ขึ้นไป ซึ่งเราก็ทำอย่างนั้น กว่า 200 คนก็ทำอย่างนั้น

ผมต้องขอโทษอย่างสุดซึ้งที่ต้องเผยเรื่องราวอ่อนไหวตรงจุดนี้ แต่ก็รู้สึกเป็นความรับผิดชอบที่ต้องบอกกับนักปีนเขาคนอื่นๆ ถึงเรื่องที่ต้องจริงจัง และถกเถียงหาทางทำให้เกิดความปลอดภัยยิ่งขึ้น ให้มีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น มีทางเลือกทางศีลธรรมมากขึ้น ว่าเราจะไต่ขึ้นไปบนหลังคาโลกอย่างไร

สำหรับผู้ที่สูญเสีย ขอให้ไปสู่สุคติด้วยเทอญ” นายไซกาลีโพสต์ข้อความ

ด้าน มาร์ติน ฮิววิตต์ อดีตทหารพลร่มเปิดเผยว่าเขาจำเป็นต้องลัดคิวขึ้นยอดเขาเพราะออกซิเจนจวนจะหมดถังแล้ว

Martin Hewitt

หากปล่อยให้อากาศหมดถังออกซิเจนอาจเสียชีวิตได้เพราะคนที่รอต่อแถวต้องเสียเวลาหลายชั่วโมง ท่ามกลางอากาศหนาวสุดขั้วและบรรยากาศเบาบาง ทำให้นักปีนเขาอย่างน้อย 4 คนเสียชีวิตในเขตมรณะ หรือ เดธ โซน

ส่วนสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เสียชีวิตบนยอดเขา เนื่องจากความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียและอาการยิ่งแย่ลงเพราะแถวที่ยาวเหยียดทำให้การพิชิตยอดเขาล่าช้าออกไป

ขณะที่กองทัพเนปาลเตรียมกำลังพลขนย้ายขยะ 9,979 กิโลกรัมและนำร่างผู้เสียชีวิต 4 รายออกจากยอดเขาเอเวอเรสต์ เนื่องจากมีนักปีนเขามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557-2558 ซึ่งเกิิดเหตุแผ่นดินไหวและหิมะถล่ม

นักปีนเขานิยมไต่เขาเอฟเวอเรสต์ในช่วงอากาศดีซึ่งมักจะเริ่มในเดือน มี.. เฉพาะฤดูใบไม้ผลิปีนี้มีทั้งหมด 41 ทีม จำนวนนักปีนเขาทั้งหมด 387 คน และยังมีลูกหาบชาวเนปาลจำนวนพอๆ กันคอยนำทางนักปีนเขาให้ไปถึงยอดเขาสูงสุดในโลก

………..

อ่านข่าวก่อนหน้านี้ :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน