จุดเทียนรำลึก30ปีเทียนอันเหมิน ฮ่องกงชุมนุมพรึ่บ ปักกิ่งเงียบ

จุดเทียนรำลึก30ปีเทียนอันเหมินเอเอฟพี รายงาน บรรยากาศการจัดพิธีจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน ครบ 30 ปี ที่ฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีน ว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ชาวฮ่องกงต่างเดินทางมาชุมนุมจนแน่นที่สวนสาธารณะวิกตอเรีย ปาร์ก สื่อ HKFP รายงานว่า มีถึง 180,000 คน เป็นสัญลักษณ์ด้วยว่าชาวฮ่องกงพยายามดิ้นรนรักษาสถานะของการเป็นดินแดนที่มีเสรีภาพในการแสดงออก หลังเริ่มถูกล้อมกรอบจากจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นทุกขณะ

การชุมนุมของชาวฮ่องกงเรือนแสนที่จุดเทียน ร้องเพลง และฟังผู้กล่าวสุนทรพจน์สะเทือนอารมณ์ บ่งบอกว่า ฮ่องกงเป็นเพียงสถานที่เดียวในจีนที่ยังจัดการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมินได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงต้องดิ้นรนกับการถูกล้อมกรอบด้วยกฎหมาย ผู้นำการชุมนุมต่อต้านจีนอย่างกว้างขวาง เมื่อปี 2557 เพิ่งถูกตัดสินจำคุก

จุดเทียนรำลึก30ปีเทียนอันเหมิน

People attend a candlelight vigil at Victoria Park in Hong Kong on June 4, 2019, to mark the 30th anniversary of the 1989 Tiananmen crackdown in Beijing. (Photo by Philip FONG / AFP)

“การจุดเทียนที่วิกตอเรียปาร์กเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ชาวฮ่องกงต้องไม่ถูกรังแก และเป็นบทพิสูจน์ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะทำให้ฮ่องกงอยู่ในโอวาทไม่ได้” แถลงการณ์ของผู้จัดการชุมนุมรำลึก ระบุ

นายริชาร์ด ชอย รองประธานกลุ่มพันธมิตรฮ่องกงเพื่อสนุบสนุนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจีน กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากที่ประชาชนฮ่องกงยังคงจดจำเหตุการณ์ 4 มิ.ย. และแน่นอนว่าเพื่อทำให้ความทรงจำคงอยู่ ไม่ปล่อยให้ทางการจีนลบความทรงจำชาวจีนทั้งชาติ

จุดเทียนในมือถือ (Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP)

ก่อนหน้านี้ เอเอฟพีรายงานบรรยากาศที่จัตุรัสเมียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ว่า มีตำรวจตรวจบัตรแสดงตัวตน หนังสือเดินทางของนักท่องเที่ยวและคนที่เดินทางออกจากจตุรัสเทียนอันเหมินทุกคน นักข่าวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปจัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างเด็ดขาด และถูกตำรวจเตือนไม่ให้ถ่ายรูป นักข่าวรายหนึ่งถูกเตือนว่าพฤติกรรมสื่อที่ไม่ถูกกฎหมายอาจส่งผลต่อการต่ออายุวีซ่า

แกนนำประชาธิปไตยบนเวทีชุมนุมรำลึก (Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP)

ขณะเดียวกันเป็นที่สังเกตว่า มีประชาชนหลายร้อยคนมาเข้าแถวรอดูการเชิญธงขึ้นยอดเสาที่จัตุรัสด้วยแถวยาวเป็นพิเศษ แม้เป็นกิจกรรมประจำวัน เนื่องจากมีการตรวจเข้ม ให้แสดงบัตรประชาชนที่ต้องตรงกับเครื่องคัดกรองจดจำใบหน้า จนหลายคนอดดู

การคุ้มกันเข้มที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน A paramilitary police officer stands guard in front of a police vehicle as people wait for the flag-raising ceremony held at Tiananmen Square during sunrise, in Beijing, China June 4, 2019. REUTERS/Stringer CHINA OUT.

นักเรียนพยาบาลคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่ามารอดูเหตุรำลึกเทียนอันเหมิน ส่วนแม่นักเรียนกล่าวเสริมว่า เราไม่คิดถึงอดีตครั้งนั้น

ด้านคนขับรถแท็กซี่จากแอพพลิเคชั่นตีตี ซึ่งเกิดในปี 2532 กล่าวว่า “ไม่ใช่ผมไม่รู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้น เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะให้ผมบอกคุณได้อย่างไรล่ะ แอพพลิเคชั่นตีตีกำลังบันทึกเสียงสนทนาของเราในรถ”

ด้านรัฐบาลชาติตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป กล่าวตำหนิจีนที่พยายามปิดกั้นการรำลึกเหตุการณ์ที่เชื่อว่าประชาชนถูกสังหารนับพันชีวิต เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ทั้งคุมเข้มจตุรัสเทียนอันเหมิน กักขังนักเคลื่อนไหวก่อนถึงวันสำคัญ และบล็อกเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในโลกออนไลน์อย่างรัดกุม

Many thousands of people attend a candlelight vigil for victims of the Chinese government’s brutal military crackdown three decades ago on protesters in Beijing’s Tiananmen Square at Victoria Park in Hong Kong Tuesday, June 4, 2019. (AP Photo/Vincent Yu)

ขณะที่จีนตอบโต้ว่า สหรัฐอคติและก้าวร้าว แทรกแซงกิจการภายใน โจมตีระบบของจีน ใส่ร้ายนโยบายต่างประเทศและนโยบายในประเทศของจีน นอกจากนี้ โกลบอลไทมส์ สื่อรัฐบาลยังยกย่องการรับมือเหตุการณ์ของรัฐบาลในอดีต ว่าเป็นการฉีดวัคซีนให้สังคมจีนเพื่อต่อต้านความไม่สงบทางการเมืองครั้งใหญ่ใดๆ ก็ตามที่จะเกิดในอนาคต

 

สถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ตอบโต้รัฐบาลสหรัฐ หลังจากนายไมก์ พอมเพโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐหวังมาตลอดว่าการที่จีนสู่ระบบระหว่างประเทศจะนำไปสู่สังคมที่เปิดกว้าง อดทนต่อความเห็นต่างยิ่งขึ้น แต่ความหวังเหล่านั้นถูกทำลาย จีนละเมิดสิทธิเสรีภาพระลอกใหม่ รวมถึงการกักขังมุสลิมอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

การชุมนุมเมื่อ 30 ปีก่อน / Getty Images

ด้าน น.ส.เฟเดริกา ม็อกเกรินี ข้าหลวงใหญ่อียู ด้านการต่างประเทศ กล่าวว่า อียูยังคงเฝ้าจับตาเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม เสรีภาพสื่อในจีนต่อไป เหตุการณ์เทียนอันเหมินไม่ควรถูกทำให้ลืม หากควรต้องยอมรับว่ามีผู้ถูกฆ่า กักขัง สูญหาย เพราะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนรุ่นหลัง หลังจาก 30 ปีผ่านมานี้ จีนไม่เคยแจงตัวเลขจำนวนผู้ที่เสียชีวิตและถูกกักขังที่แท้จริงเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.

…………………….

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน