ญี่ปุ่นยกเลิกชมดอกซากุระ – เมื่อวันที่ 29 ก.พ. เอเอฟพี รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ว่า องค์การอนามัยโลก หรือฮู ประกาศยกระดับเตือนภัยความเสี่ยงที่ไวรัสดังกล่าวจะระบาดไปทั่วโลกแล้ว หลังยอดผู้ติดเชื้อนอกจีนเพิ่มขึ้นมากกว่ายอดผู้ป่วยในจีนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 85,182 คน เสียชีวิตแล้ว 2,924 ราย

AFP

ขณะที่เทศกาลชมดอกซากุระบาน หรือฮานามิ 2020 กลายเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ทางการญี่ปุ่นประกาศยกเลิก เนื่องจากการระบาดของไวรัส ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างพยายามสกัดกั้นการระบาดของไวรัสข้างต้น

เทศกาลฮานามิเป็นเทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่โด่งดังของญี่ปุ่นที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว และนครโอซากา ชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวเข้าชมหลายล้านคนแต่ละปีเพื่อชมดอกซากุระ ดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่นที่ผลิดอกเป็นครั้งแรกในรอบปี มักเริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย.

Quartz

สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นคาดว่า เทศกาลชมดอกไม้ที่จะจัดขึ้นโดยหน่วยงานอื่นทั่วประเทศจะถูกยกเลิกเช่นกัน คณะผู้จัดงานกล่าวขอโทษต่อบรรดาผู้ที่เฝ้ารอเทศกาลดังกล่าว แต่ขอให้เข้าใจถึงความจำเป็นของมาตรการที่เกิดขึ้น

การประกาศยกเลิกงานเทศกาลชมดอกไม้เกิดขึ้น หลังรัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งให้สถานศึกษาทั่วประเทศระงับการเรียนการสอนชั่วคราว และขอให้ชาวญี่ปุ่นพยายามทำงานจากที่บ้าน หลีกเลี่ยงการชุมนุม และใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเดินทางเฉพาะในช่วงที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นแถลงว่า ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.พ. เพิ่มอีก 28 คน ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 935 คน ในจำนวนนี้อยู่ในญี่ปุ่น 230 คน และอีก 705 คน มาจากเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส ที่ถูกกักกันที่ท่าเรือในเมืองโยโกฮามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ส่วนยอดผู้เสียชีวิตสะสมในอยู่ที่อย่างน้อย 11 ราย ในจำนวนนี้ 5 นาย อยู่ในญี่ปุ่น และอีก 6 ราย มาจากเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

โควิด-19 คร่าอีก 2 ราย ผู้โดยสารเรือไดมอนด์ พรินเซส ยอดตายเพิ่มเป็น 6

นอกจากนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อซ้ำ และผู้โดยสารเรือไดมอนด์ พรินเซส ที่ล้มป่วยหลังได้รับการปล่อยตัว และผลการตรวจหาเชื้อครั้งแรกไม่พบโควิด-19

Photo by STR/AFP via Getty Images

ผลกระทบเศรษฐกิจใหญ่หลวง

การระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อเนื่องให้ทั้งเศรษฐกิจโลกและจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก สะท้อนจากยอดการผลิตของโรงงานในจีนที่ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนก.พ. และมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวจากการที่บรรดาเอกชนปรับลดคาดการณ์ผลกำไรลง

บรรดานักวิเคราะห์เตือนว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ไตรมาสแรกของจีนจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือพีเอ็มไอ ตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการของจีน ตกลงมาอยู่ที่ 35.7 จุด ต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งเป็นเส้นบ่งชี้ระหว่างการหดตัวกับการเติบโต จากเดิม 50 จุด เมื่อเดือนม.ค. และเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 45 จุด ซึ่งหมายถึงการหดตัวเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังเศรษฐกิจโลก

สำนักงานสถิติจีนระบุว่า ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเป็นภาคยานยนต์ แต่ผลกระทบในระยะยาว ภาคการผลิตอื่นร้ายแรงยิ่งกว่าโดยเฉพาะภาคบริการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคลดลง เดินทางน้อยลง ต้องการที่พักน้อยลง เข้าภัตตาคารน้อยลง ท่องเที่ยวน้อยลง เป็นต้น

ภาคบริการอยู่ที่ 29.6 จุด ถือว่าเลวร้ายมาก เมื่อเทียบกับดัชนีเมื่อเดือนม.ค. ที่ 54.1 จุด ซึ่งถือว่าแย่แล้ว นอกจากนี้ บรรดาธุรกิจขนาดเล็กและกลางจะได้รับผลกระทบมากที่สุดด้วย สะท้อนจากข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมจีน ที่พบว่าธุรกิจประเภทนี้กลับมาเปิดเพียงร้อยละ 43 กล่าวคือ จีนทั้งประเทศเหลือกำลังเดินหน้าเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน