จีนปรี๊ดแผนขีปนาวุธสหรัฐ ชี้เหยียบธรณีประตู โชคดีญี่ปุ่นถอย

จีนปรี๊ดแผนขีปนาวุธสหรัฐ – เมื่อ 25 มิ.ย. เกียวโด รายงาน ว่า ญี่ปุ่นล้มแผนติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ Aegis Ashore เพื่อใช้เสริมขีดความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธที่มีความก้าวหน้าสูง โดยเฉพาะจากเกาหลีเหนือ นับว่าส่งผลดีต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ ซินหัว รายงานว่า โฆษกกองทัพจีนแถลงคัดค้านแผนของสหรัฐอเมริกาที่จะมาติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง ณ ฐานทัพสหรัฐ ในญี่ปุ่น อย่างที่สุด พร้อมระบุว่าจีนจะไม่นิ่งเฉย

นายอู๋ เชียน โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนกล่าวว่า หากฝ่ายสหรัฐ ผลักดันการติดตั้งดังกล่าว นั่นถือเป็นการยั่วยุอย่างชัดแจ้งว่าสหรัฐ กำลังยื่นเท้าเข้ามาเหยียบ “ธรณีประตู” ของจีน ซึ่งจีนจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด

 

นายอู๋ยังแสดงความหวังว่าญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคไว้ด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบ การดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และการไม่อนุมัติให้มีการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางสหรัฐฯ ภายในดินแดนของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อแผนการทางการเมืองของสหรัฐ

สำหรับการม้วนแผนเก็บเข้าลิ้นชักของญี่ปุ่น นายทาโระ โคโนะ รมว.กลาโหมญี่ปุ่น กล่าวว่า มติที่ประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตัดสินใจล้มเลิกโครงการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดยามางูจิ และจังหวัดอาคิตะแล้ว

จีนปรี๊ดแผนขีปนาวุธสหรัฐ

นายทาโระ โคโนะ รมว.กลาโหมญี่ปุ่น / In this Jan. 13, 2020, photo, Japanese Defense Minister Taro Kono, center, speaks to reporters on the Hawaiian island of Kauai after inspecting an Aegis Ashore missile-defense system at the Pacific Missile Range Facility of the U.S. Navy. Kyodo News via AP)

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนายโคโนะออกมาระบุว่าสั่งระงับการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธรุ่นนี้จำนวน 2 ชุด ชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เนื่องจากมีความยากลำบากทางเทคนิค ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษามหาศาล และกระแสต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเมื่อครั้งการประชุมพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือแอลดีพี ฝ่ายรัฐบาล เผยให้เห็นถึงความยากลำบากทางเทคนิคเรื่องการหาตำแหน่งการติดตั้งใหม่

จีนปรี๊ดแผนขีปนาวุธสหรัฐ

ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นมีระบบต่อต้านขีปนาวุธใช้อยู่แล้วเป็นรุ่นระบบต่อต้านขีปนาวุธอีจิสที่ติดตั้งไว้บนเรือประจัญบานในสังกัดกองกำลังป้องกันตัวเองทางน้ำ หรือเอ็มเอสดีเอฟ แต่นายโคโนะ มองว่า การพึ่งพาระบบป้องกันเพียงชนิดเดียวนั้นเป็นการประมาทเกินไป ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องพิจารณาหามาตรการป้องกันในระยะกลางและระยะยาว

เพราะเมื่อพิจารณาว่า เกาหลีเหนือและจีน พัฒนาขีดความสามารถด้านขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นจึงคิดซื้อระบบต่อต้านขีปนาวุธจากภาคพื้นอีจิส อะชอร์ จากสหรัฐอเมริกา

รมว.กลาโหมญี่ปุ่น กล่าวว่า การป้องกันระยะสั้นต่อขีปนาวุธข้ามทวีปนั้นทางญี่ปุ่นจะใช้ขีปนาวุธแพทริออต แอดวานซ์ เคพะบิลิตี้-3 ที่มีอยู่แล้วบนบก ร่วมกับระบบอีจิสไปก่อน หากการสกัดกั้นขีปนาวุธของเรือล้มเหลว แม้ระบบใหม่อย่างอีจิส อะชอร์ ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนระบบอีจิสบนเรือโดยตรงกว่า

(MC1 Jeremy Starr/U.S. Navy)

นายโคโนะตัดพ้อว่า ไม่รู้ว่าที่ผ่านมา 2 ปีครึ่งของการสำรวจนั้นเสียไปเพื่ออะไร และปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่ากองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปใช้ยุทธวิธีเชิงรุกด้วยหรือไม่ เช่น การบุกยึดพื้นที่ของข้าศึกเพื่อป้องกันตนเอง หลังรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองแห่งต่างแสดงความะยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลที่รวดเร็วในการยุติโครงการดังกล่าว เพราะช่วยทำให้ชาวบ้านโล่งใจ หลังจาก หวาดเกรงถึงปัญหาด้านสุขภาพที่อาจตามมาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากระบบเรดาร์ของระบบอีจิส อะชอร์ และการตกเป็นเป้าโจมตีจากข้าศึก รวมทั้งการได้รับผลกระทบจากชิ้นส่วนที่ตกลงมาจากการยิงของจรวดด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธ.ค. 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจซื้อและติดตั้งระบบอีจิส อะชอร์ 2 แห่ง เพราะเกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปหลายครั้งติดต่อกัน ประกอบกับกุศโลบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ที่ต้องการให้ชาติต่างๆ หันมาซื้อสินค้าสหรัฐเพิ่ม

 

เดิมทีโครงการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธดังกล่าวมีกำหนดเสร็จสิ้นในปี 2568 ตามสัญญาซื้อขายระบบต่อต้านขีปนาวุธอีจิส อะชอร์ มูลค่ากว่า 5.2 หมื่นล้านบาท ญี่ปุ่นจ่ายให้สหรัฐไปแล้วกว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อซื้อแพ็กเกจติดตั้งบวกค่าบำรุงรักษาตลอด 30 ปีอีกมูลค่าเกือบ 1.3 แสนล้านบาท

++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สถานีข่าวญี่ปุ่นขอโทษ เตือนผิดโสมเหนือยิงจรวดผิดคิว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน