อังกฤษอนุญาตนำเข้า “ลิง” – อินดีเพนเดนต์ ตั้งข้อสังเกตข้อมูลหน่วยงานสุขภาพสัตว์และพืช (APHA) ของรัฐบาลอังกฤษ เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตนำเข้าลิงกังหางยาว หรือลิงแสม เมื่อปี 2562 ว่า จำนวนลิงที่นำเข้ามากผิดปกติถึง 6,752 ตัว ส่วนใหญ่มาจาก มอริเชียส ชาติแอฟริกาตะวันออก 6,120 ตัว และอีก 632 ตัว มาจาก เวียดนาม และยังมีชิ้นส่วนเนื้อเยื่อของลิงจำนวนมาก เพื่อนำมาทดสอบกับสารเคมีและยาต่างๆ ตามห้องปฏิบัติการวิจัย

AFP

นอกจากนี้ APHA ออกใบอนุญาตนำเข้าลิงสายพันธุ์อื่นอีก 38 ตัว แบ่งเป็น ลิงกระรอก 25 ตัว ลิงไลออนทามารินสีทอง 7 ตัว และไม่ทราบสายพันธุ์ 6 ตัว เพื่อการเพาะพันธุ์ ทำให้จำนวนลิงที่นำเข้าเพื่อการทดลองและเพาะพันธุ์ของปี 2562 รวมเป็น 6,790 ตัว ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบของปี 2561 ที่มีการอนุญาตนำเข้าลิงแสม 2,666 ตัว ส่วนของปี 2560 อยู่ที่ราว 1,000 ตัว

แม้ว่าอังกฤษห้ามใช้สัตว์ป่าจำพวกลิงมาทดสอบทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ แต่ยังอนุญาตนำเข้าและขายเป็นสัตว์เลี้ยง และนำเข้าลูกลิงเพื่อการวิจัยได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดของปี 2561 จำนวนการทดลองกับสัตว์จำพวกลิงในอังกฤษเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 เป็น 3,170 ครั้ง ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เกือบ 2,900 ครั้ง เป็นการทดลองกับ ลิงแสม และ 4 ใน 5 ของจำนวนนี้เป็นการทดสอบ ความเป็นพิษของสารเคมีหรือยาต่างๆ

 

น.ส.ซาราห์ ไคต์ แห่ง แอคชั่น ฟอร์ ไพรเมตส์ (Action for Primates: AfP) กลุ่มผู้รณรงค์เพื่อสิทธิของ ไพรเมต สัตว์จำพวกลิงที่ไม่ใช่มนุษย์ ขอให้ APHA ชี้แจงเหตุผลการนำเข้าลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และกล่าวว่า จำนวนลิงที่นำเข้าเพื่อการทดสอบในห้องปฏิบัติการอาจมากกว่านี้ และมาจากภายในสหภาพยุโรป ที่มีบริษัทเพาะพันธุ์สัตว์จำพวกลิงจำนวนมาก

ส่วนลิงที่ถูกซื้อมาเพื่อเพาะพันธุ์จะถูกนำไปที่สวนสัตว์หรือตลาดสัตว์ป่า และการสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมาพบว่า อังกฤษมีลิงที่ถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงหลายพันตัว

AFP

นอกจากนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การนำเข้าลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่โรคจากไวรัสร้ายแรงที่อาจอันตรายถึงชีวิตไปสู่มนุษย์ได้ เช่น ไข้หวัดนก ซาร์ส และ สมองฝ่อวาเรียนท์ (Variant Creutzfeldt-Jakob Disease)

AfP ยังยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาที่ห้ามนำเข้าสัตว์จำพวกลิงเพื่อการค้าเป็นสัตว์เลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2518 ตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐระบุ อาจนำโรคติดเชื้ออันตรายและบางครั้งถึงแก่ชีวิตมนุษย์ได้ รวมถึง อีโบลา ไข้เหลือง ฝีดาษลิง และสารพัดโรคที่ยังไม่ทราบและไม่พบ และเมื่อปีที่แล้ว อังกฤษพบผู้ป่วยฝีดาษลิง 1 คน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

 

ทั้งนี้ ลิงแสมเป็นสัตว์จำพวกลิงที่มีการค้ามากที่สุดทั่วโลกและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อการวิจัย สารพัดการทดลองเพื่อประเมินปฏิกิริยาต่อยาหรือสารเคมีควบคุมสัตว์ และฉีดยาหรือบังคับกินอาหารผ่านท่อลงกระเพาะอาหาร

จีน เป็นชาติรายใหญ่ในการจัดหาลิงเพื่อการวิจัยระหว่างประเทศมานานแล้ว แต่ตอนนี้ยุติบทบาทลง เนื่องจากกฎหมายห้ามค้าและขนส่งสัตว์ป่าของจีน หลังการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน หลายประเทศจึงต้องมองหาลิงทดลองจากแหล่งอื่น ซึ่งกลายมาเป็น แอฟริกาใต้ และ มอริเซียส แต่ทุกๆ ปี ยังมีการจับลิงหลายร้อยตัวจาก ป่าฝนเขตร้อน ใน อเมริกาใต้ ด้วย

PETA

AfP ระบุด้วยว่า การนำเข้าลูกสัตว์ป่าเพื่อนำมาทดสอบทางวิทยาศาสตร์ช่วยสร้างรายได้แก่ชาวบ้านผู้จับลิงออกมาจากถิ่นอาศัย

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อังกฤษยังทำการค้าที่เน้นกับการดักจับสัตว์ป่าด้วยวิธีการโหดร้ายอย่างต่อเนื่อง การจับลิงป่าสร้างความทุกข์ทรมานและความเครียดอย่างมีนัยสำคัญ สัตว์จำพวกลิงเป็นสัตว์สังคมสูง การดักจับและการพรากจากถิ่นอาศัย ครอบครัว และกลุ่มสังคมของพวกลิง เป็นความโหดร้าย และทำให้ลิงบาดเจ็บหรือแม้แต่ตายได้” น.ส.ซาราห์ ไคต์ กล่าว

 

ด้านโฆษกรัฐบาลอังกฤษชี้แจงว่า อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบสวัสดิภาพสัตว์ครบวงจรที่สุดในโลก และมุ่งมั่นกำหนดระเบียบเหมาะสมเพื่อการใช้สัตว์ในการวิจัยวิทยาศาสตร์ ด้วยหลัก 3Rs คือ แทนที่ (replacement) สัตว์ด้วยทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่สัตว์เท่าที่เป็นไปได้ ลดจำนวน (reduction) สัตว์ที่ใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อบรรลุผลตามความต้องการ ด้วยขั้นตอน ประณีต (refinement) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อลดความทรมานของสัตว์ให้มากที่สุด

ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท ของอังกฤษ ชี้แจงข้อมูลชิ้นเนื้อเยื่อของลิงว่า สามารถนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจำนวนมาก เช่น เลือด หรือน้ำลาย มาจากลิงตัวเดียวได้ แต่เวลาขอใบอนุญาตตัวอย่างเนื้อเยื่อจะต้องแยกเป็นรายอันไป ดังนั้น จำนวนลิงมีชีวิตที่นำเข้ามาจริงย่อมต่ำกว่า 6,790 ตัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ลิงเก็บมะพร้าว : สถานทูตในลอนดอนแถลง อุตสาหกรรมมะพร้าวไทยใช้ “แรงงานมนุษย์เท่านั้น”

น้องโชว์เพื่อชาติ! สื่อต่างชาติบุกพิสูจน์ลิงเก็บมะพร้าว เห็นกับตาเลี้ยงไม่ต่างคนในครอบครัว(คลิป)

ซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษโละสินค้า “มะพร้าวไทย” ใช้แรงงานลิงเก็บ-ทารุณสัตว์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน