วิกฤตโรงพยาบาลซิมบับเว – วันที่ 29 ก.ค. บีบีซี รายงานวิกฤตสาธารณสุขซิมบับเว ชาติแอฟริกา จากเรื่องอื้อฉาวการจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล ทำให้บุคลากรการแพทย์นัดหยุดงานประท้วง ส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล สะท้อนผ่านโรงพยาบาลกลางกรุงฮาราเร เมืองหลวง หมอไม่สามารถผ่าท้องทำคลอดหญิงตั้งครรภ์อย่างเร่งด่วนได้ทัน จนทารกคลอดออกมาตาย 7 ราย ในคืนเดียว
Out of 8 pregnant women, only one went home smiling. (Today, Harare Hospital)
That 0/10 in red means NO LIFE (1st frame) and those green clothes are covering dead bodies of new born babies.
All this is AVOIDABLE but our leaders have chosen to LOOT.
Please! pic.twitter.com/PuCVVGFm3h— Dr Peter Magombeyi (@DMagombeyi) July 28, 2020
เรื่องราวน่าสลดเผยแพร่ครั้งแรกทางทวิตเตอร์ของ นพ.ปีเตอร์ มากอมเบยี บรรยายภาพถ่ายทารก 7 ราย ที่ห่อด้วยผ้าวางเรียงกันว่า “เราถูกปล้นอนาคต รวมถึงทารกที่ไม่ได้เกิด หยุดปล้นเราเสียที” ขณะที่หมอสองคนที่ทราบสถานการณ์เลวร้ายที่โรงพยาบาลกลางกรุงฮาราเร ยืนยันกับบีบีซีว่า เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 27 ก.ค. มีการผ่าท้องทำคลอดทารก 8 คน แต่กลับ คลอดออกมาตาย 7 ศพ
“การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความล่าช้ามากๆ แม่สองคน มดลูกแตก ต้องผ่าท้องก่อน ส่วนแม่ 6 คน ต้องผ่าท้องเช่นกัน เนื่องจากคลอดธรรมชาติแล้วติดขัด แต่ไม่ทันเวลาจนทารกตายติดอยู่ในเชิงกรานของแม่ๆ” คำบอกเล่าจากหมอคนแรกที่ปกปิดตัวตนเพราะไม่ได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดพูดคุยกับสื่อ
หมอคนนี้บรรยายสภาพความร้ายแรงที่โรงพยาบาลรัฐสองแห่งหลักของเมืองหลวง พยาบาลและหมอทำงานเพียงหยิบมือ เนื่องจากหลายคนนัดหยุดงาน นอกจากนี้ พูดถึงปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก ทั้งอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (พีพีอี) ยารักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ และเลือดสำรองที่ต้องใช้รักษาอาการตกเลือดระหว่างคลอดบุตร
“มีเจ้าหน้าที่พยาบาลจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นหญิงวัยกลางคนที่นัดหยุดงานออกไปประท้วงไม่ได้ แต่ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตที่โรงพยาบาลเช่นกัน หมอหลายคนพยายามแล้ว แต่เหนื่อยมากๆ ส่วนหมอรุ่นน้องไม่มีประสบการณ์ในการระบุภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์” หมอคนแรกกล่าว
ขณะที่คลินิกเล็กๆ หลายแห่งตามกรุงฮาราเรได้รับผลกระทบหรือปิดตัวเช่นกัน อันเป็นผลของการนัดหยุดงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน หญิงท้องหลายคนต้องแห่มาโรงพยาบาลเมืองหลวงซิมบับเว จนหอผู้ป่วยคลอดบุตรล้น
หมอคนที่สองระบายความรู้สึกว่า “เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่เกิดซ้ำทุกวันและสิ่งที่เราทำได้คือดูพวกเขาตาย เป็นความเจ็บปวดของหลายครอบครัวและหมอรุ่นน้อง”
ด้าน สมาคมสูตินรีแพทย์และนรีแพทย์ของซิมบับเว ออกแถลการรณ์อธิบายสถานการณ์ในโรงพยาบาลเป็น หลุมฝังศพ และ มากกว่าหายนะ ผู้หญิงกำลังทุกข์ทรมาน ดังนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน รัฐบาล แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ประชาสังคม และปัจเจกบุคคล ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือแม่และทารกผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียง
เรื่องอื้อฉาวพัวพันกับสัญญาการจัดซื้อเวชภัณฑ์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ราคาสูงเกินจริง ทำให้รัฐมนตรีสาธารณสุขซิมบับเวถูกไล่ออกจากตำแหน่ง ขณะที่พยาบาลหลายคนนัดหยุดงานทั่วประเทศ เพราะไม่มีชุดพีพีอี และปัญหาหอผู้ป่วยคลอดบุตรล้น ตอกย้ำความตึงเครียดของชาติจากภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่บีบคั้นเศรษฐกิจ และการประท้วงตั้งแต่วันศุกร์ ต่อต้าน พรรคซูนู-พีเอฟ พรรคการเมืองเดียวที่บริหารซิมบับเวมาตั้งแต่ได้รับเอกราช
บรรดาแพทย์อาวุโสเคยเขียนจดหมายถึงรัฐบาลซิมบับเว ร้องเรียนถึงสภาพการทำงานและขู่จะนัดหยุดงานประท้วง ต่อมา รัฐบาลมีจดหมายตอบกลับซึ่งรั่วไหลออกมา ระบุว่า รัฐบาลยอมรับปัญหาท้าทายตามโรงพยาบาล และปัญหาขาดแคลนเวชภัณฑ์อย่างหนัก เนื่องจากขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศในการจัดซื้อ และขอให้บุคลากรการแพทย์ทบทวนความตั้งใจที่จะถอนตัวออกจากงานสาธารณสุข
ทั้งนี้ ซิมบับเวมียอดผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเป็น 2,817 คน เป็นผู้ติดเชื้อในรอบ 24 ชั่วโมง 192 คน ในจำนวนนี้รักษาหาย 604 คน และเสียชีวิต 40 ราย