ปิดฉาก102ปี ร้านหนังสือเก่าแก่ที่สุดในฮ่องกง เซ่นพิษวิกฤตโควิด
ปิดฉาก102ปี – เซาท์ไชน่า มอร์นิง โพสต์ รายงานผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจล่มสลายอีกรายแล้ว รายล่าสุด เป็นร้านหนังสือเก่าแก่ที่สุดในฮ่องกง หลังจากเปิดขายมานาน 102 ปี จำต้องยุติลงและเปลี่ยนรูปแบบไปให้บริการออนไลน์แทน
บริษัทสวินดอน บุ๊ก จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2461 หรือ 102 ปีก่อน ประกาศปิดตัวร้านหนังสือบนถนนล็อก ใจกลางเกาะฮ่องกง เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ก.ค.
จัดโปรโมชั่นทิ้งทวนวันสุดท้าย ซื้อ 1 เล่ม แถม 2 เล่ม
ชาวฮ่องกงหลายต่อหลายรุ่นเตอบโตขึ้นมาพร้อมกับร้านหนังสือภาษาอังกฤษซึ่งมีหน้าร้านเป็นเอกลักษณ์ ตัวหนังสือสีทองบอกชื่อร้านโดดเด่นอยู่หน้าผนังหินอ่อน เป็นภาพที่เห็นเจนตามานาน ผ่านสงครามโลก ผ่านช่วงเวลาที่เศรษฐกิจรุ่งโรจน์และซบเซาอยู่ในย่านจิมซ่าจุ่ย
“ร้านสวินดอนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ฮ่องกงมานานกว่าศตวรรษ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวฮ่องกงหลายยุคหลายสมัยและยังเคยเป็นฉากในภาพยนตร์หลายเรื่อง ในฐานะที่ครอบครัวชาวฮ่องกงเป็นเจ้าของร้าน เราภาคภูมิใจที่เป็นแรงบันดาลใจและแสงส่องสว่างให้กับหลายๆ ชีวิต” เจ้าหน้าที่บริษัทกล่าว
ระดับตำนาน
ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. นี้ บริษัทจะขายหนังสือออนไลน์ซึ่งมีคำสั่งซื้อเข้ามาตามปกติโดยลูกค้าไปรับหนังสือได้ที่ชั้น 2 ของร้านที่ยังคงอยู่
บริษัทสวินดอน ยังเปิดร้านหนังสือ “ฮ่องกง บุ๊ก เซ็นเตอร์” ที่ย่านเซ็นทรัลและร้าน “เคลลี แอนด์ วอลช์” ในศูนย์การค้าแปซิฟิก เพลส ย่านแอดไมรัลตีด้วย
ส่วนร้านที่ย่านจิมซาจุ่ยตกเป็นข้อพิพาทกับเจ้าของที่ดิน “โนเบิล วิสดอม” เพราะค้างจ่ายค่าเช่า 3.71 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงหรือประมาณ 15 ล้านบาทเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งศาลสูงออกหมายศาลเมื่อเดือน พ.ค. แจ้งว่าเจ้าของที่ดินต้องการให้จ่ายเงินค่าค้างเช่าทั้งหมดและออกจากพื้นที่เช่า 464 ตารางเมตร ซึ่งโนเบิล วิสดอมเป็นเจ้าของที่ดิน 1 ใน 3 ส่วนพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นของผู้จัดการดูแลทรัพย์สินอาร์บีซี ทรัสต์ตี
ภายในร้าน ภาพโดย Jonathan Wong
ร้านหนังสือสวินดอนก่อตั้งโดยตระกูลหลี่ และปัจจุบัน ลูกหลานรุ่นที่ 3 ดำเนินกิจการ โดยเริ่มขายออนไลน์เมื่อ 10 ปีก่อน
แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ต้องปิดร้าน คือ การระบาดของโรคโควิด-19 และศาลสั่งให้จ่ายค่าค้างเช้าที่จ่ายล่าช้ามาตั้งแต่ปี 2557
เศรษฐกิจฮ่องกงถดถอยมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว และยังถูกซ้ำเติมจากการประท้วง ตามด้วยการระบาดของไวรัส
แฟนๆ ร้านหนังสือประมาณ 40 คนพากันไปร้านหนังสือในดวงใจ ในช่วงบ่ายวันพุธที่ผ่านมาเพื่อสัมผัสบรรยากาศร้านที่คุ้นเคยเป็นครั้งสุดท้าย ชั้นหนังสือบางชั้นว่างเปล่า ขณะที่หนังสือหลายปกติดป้ายลดราคา ส่วนพนักงานร้านกำลังง่วนกับการตรวจหนังสือหรือรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า
ภาพจาก Google Map
ด้านเฟลิกซ์ อิว วัย 20 ปี และเพื่อน ไบรอัน เหลียง วัย 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยชวนกันมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหน้าร้าน
อิวกล่าวว่าปู่เคยพามาอ่านหนังสือและซื้อหนังสือที่ร้าน ตอนตนเป็นเด็ก และรู้สึกน่าอายที่ร้านหนังสือเป็นประวัติศาสตร์แต่ต้องเลิกขายหน้าร้าน
ส่วนเหลียง กล่าวว่าพ่อกับแม่บอกว่าเคยมาซื้อหนังสือเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อน ขณะที่ร้านหนังสือในฮ่องกงหลายร้านเป็นแบบเครือหรือเชน แต่ร้านเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์มีคุณค่ากว่าจริงๆ
ขณะที่อีริค โล วัย 56 ปี ทำงานในบริษัทรับส่งสินค้าและเป็นลูกค้าตัวยงมากว่า 30 ปี กล่าวว่าปกติ มักจะมาที่ร้านแห่งนี้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และคงจะคิดถึงมากๆ แต่คิดว่าการปิดร้านหนังสือภาษาอังกฤษคงจะส่งผลกระทบต่อลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ที่ชอบอ่านหนังสือไฮ–เอ็นด์ และคงจะหาร้านอื่นมาทดแทนได้ยาก พร้อมกับยอมรับแนวโน้มทิศทางร้านหนังสือว่าปรับเปลี่ยนรูปแบบมาขายออนไลน์มากขึ้นและลดขนาดร้านหนังสือที่มีหน้าร้าน
ด้านบริษัทผู้พิมพ์วรรณกรรมภาษาอังกฤษแบบออนไลน์ “ชา” เปรียบว่าการปิดร้านสวินดอนเป็นข่าวร้ายเพราะร้านดังกล่าวสร้างฐานนักอ่านในฮ่องกงและบุกเบิกร้านขายเครื่องเขียนในฮ่องกง
ขณะที่ร้านขายหนังสืออื่นๆ ในฮ่องกงต้องเผชิญอุปสรรคมากมายในปีนี้
เมื่อเดือน พ.ค. ร้านหนังสือเชน ชื่อ “พอพพิวลา” (Popular) ปิดร้านสาขา 16 แห่งทั่วฮ่องกง หลังจากเปิดร้านมา 40 ปี โดยอ้างว่าต้องปิดตัวเพราะตลาดค้าปลีกซบเซา
ส่วนผู้อ่านบางคนเริ่มหันไปสั่งซื้อหนังสือออนไลน์จากเว็บดัง อย่าง แอมะซอน และ บุ๊ก ดีโพสิทอรี ในช่วงไวรัสระบาด
ขณะที่อัลเบิร์ต ว่าน ผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือ “บลีก เฮ้าส์” ในย่านซานโปกง กล่าวว่าร้านหนังสือภาษาอังกฤษในฮ่องกงอยู่ยากเพราะไม่ค่อยมีผู้อ่าน
ส่วนการสั่งสต็อกหนังสือภาษาอังกฤษเล่มใหม่มายิ่งยากมากเพราะต้องสั่งซื้อหนังสือโดยตรงจากผู้พิมพ์ในต่างประเทศและต้นทุนการสั่งซื้อหนังสือภาษาอังกฤษราคาแพงขึ้นและใช้เวลานานกว่าจะได้รับหนังสือเข้าร้าน
Bleak House Books
ว่านกล่าวว่าร้านหนังสือบลีก เฮ้าส์ มีเว็บไซต์ให้บริการผู้อ่านในการสั่งซื้อหนังสือ แต่ก็กดดดันเพราะธุรกิจขายหนังสือภาษาอังกฤษไม่เหมือนกับธุรกิจขายปลีกออนไลน์อื่นๆ
ว่านกล่าวว่าพยายามไม่กังวลเพราะไม่มีทางที่จะแข่งขันกับเว็บไซต์อย่างแอมะซอนและบุ๊ก ดีโพสิทอรี โดยไม่เทียบเคียงราคาเพราะเว็บดังวางกลยุทธธุรกิจไม่เหมือนกับร้านหนังสือท้องถิ่น
ปี 2558 ร้านหนังสือเชน ชื่อ “ดีม็อกส์” ในออสเตรเลีย ต้องปิดตัวไป หลังจากเป็นเพื่อนนักอ่านอยู่นาน 15 ปี เนื่องจากสู้ค่าเช่าไม่ไหวและพฤติกรรมนักอ่านเปลี่ยนไป
ส่วนร้านหนังสือใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในฮ่องกง ชื่อ “เอสไลต์’ ของไต้หวัน ซึ่งมีสาขา 5 แห่งในเกาลูนและเกาะฮ่องกงยังไปได้ต่อเพราะเป็นทั้งร้านขายสินค้าหลากหลายประเภทและเป็นร้านหนังสือในที่เดียวกัน
//////////////
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สิงคโปร์แอร์ไลนส์ก็อ่วม! ไวรัสทำขาดทุน 2.5 หมื่นล้าน-มากสุดเป็นประวัติการณ์