ผีเสื้อใหญ่สีฟ้า กลับมาแล้ว หลังหายไปจากเกาะอังกฤษนาน 150 ปี

ผีเสื้อใหญ่สีฟ้า – การ์เดียน รายงานข่าวทางธรรมชาติที่น่าฮือฮา เมื่อผีเสื้อสีฟ้าสดใสตัวใหญ่กลับมาที่เนินเขาคอตสวาลด์ มณฑลกลอสเตอร์ไชร์ ของอังกฤษ อีกครั้ง หลังจากไม่มีใครเห็นความสวยงามของผีเสื้อชนิดนี้มานาน 150 ปี

ฝูงผีเสื้อประมาณ 750 ตัวโบยบินในช่วงฤดูร้อน หลังจากปล่อยตัวอ่อนเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมาและปรับปรุงทุ่งหญ้าเพื่อสร้างให้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผีเสื้อ

ขณะนี้ ผีเสื้อที่ใกล้สูญพันธุ์กลับมาแต้มสีสันธรรมชาติในอังกฤษมากกว่าที่อื่นในโลก หลังจากสูญพันธุ์ไปจากอังกฤษ 40 ปี

 

การกลับมาของผีเสื้อต้องยกให้เป็นผลงานของโครงการฟื้นฟูแมลง โดยนำหนอนผีเสื้อมาจากสวีเดนและบรรทุกมาในบ้านของนักนิเวศวิทยา ศาสตราจารย์ เจเรมี โธมัส และ เดวิด ซิมคอกซ์ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ของผีเสื้อในซอมเมอร์เซ็ตและกลอสเตอร์ไชร์ของอังกฤษ

ขั้นแรก ทั้ง 2 คนต้องทำความเข้าใจวัฏจักรชีวิตที่ไม่เหมือนใครของผีเสื้อใหญ่สีฟ้า โดยหยอดตัวอ่อนหนอนผีเสื้อไว้ใต้ต้นไทม์ซึ่งพวกมดแดง Myrmica sabuleti จะขนไปใต้ดินเพราะเชื่อว่าหนอนผีเสื้อเป็นตัวอ่อนของพวกมันเองแล้วดูแลอย่างดี รวมทั้ง ร้องเพลงกล่อม

ผีเสื้อใหญ่สีฟ้า

ก่อนที่ตัวอ่อนผีเสื้อจะเปลี่ยนจากสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารมาเป็นสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร พวกมันกินตัวอ่อนของมดตลอดช่วงฤดูหนาว ก่อนจะเข้าดักแด้ จากนั้น กลายเป็นผีเสื้อขึ้นมาบนดินในช่วงฤดูร้อน

เนชันแนล ทรัสต์ หรือ องค์การอนุรักษ์แห่งชาติของอังกฤษ มองหาทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีความลาดชันซึ่งฝูงวัวมักไม่ค่อยไปแถวนั้น จึงเป็นที่อยู่ของฝูงมดแดง

ผีเสื้อใหญ่สีฟ้า

ซิมค็อกซ์กล่าวว่ าผีเสื้อต้องการความหนาแน่นของฝูงมดแดงเพราะเป็นส่วนสำคัญของวัฏจักรชีวิตผีเสื้อ

ส่วนวัวกินหญ้ามีบทบาทสำคัญเช่นกันเพราะกินหญ้าทำให้หญ้าเตียน แสงอาทิตย์จึงส่องถึงหน้าดินสร้างความอบอุ่นให้กับมดใต้ดินซึ่งเป็นสัตว์เลือดเย็นและความอบอุ่นยังทำให้มีอาหารตลอดฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อนและใบไม้ร่วง

โครงการคืนผีเสื้อสู่ธรรมชาติเป็นความร่วมมือของเนชันแนล ทรัสต์ องค์กรอนุรักษ์ผีเสื้อ และโครงการแบ็ค ฟรอม เดอะ บริงก์ และอื่นๆ เมื่ออากาศอบอุ่น ผีเสื้อใหญ่สีฟ้าก็จะบินไปทางเหนือเพื่อหาที่อยู่ใหม่

ริชาร์ด อีวานส์ เจ้าหน้าที่ดูแลทุ่งโรดโบโรห์และมินชินแฮมตัน กล่าวว่าผีเสื้อเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบางและผีเสื้อใหญ่สีฟ้ามักจะใช้เป็นตัวชี้วัดว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผีเสื้อทั่วโลก ไม่เพียงเป็นการอนุรักษ์ผีเสื้อ แต่ยังหวังว่าจะมีผีเสื้อเจริญเติบโตไปอีกหลายปี

////////

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน