พญามังกรเตือนสติชาติอาเซียน ชี้พญาอินทรีตัวปัญหาของภูมิภาค

พญามังกรเตือนสติชาติอาเซียน – วันที่ 8 ก.ย. เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานว่า นายหลัว จ้าวหุย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เตือนบรรดาชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ถึงการเข้าข้างสหรัฐอเมริกา

พญามังกรเตือนสติชาติอาเซียน

คำเตือนดังกล่าวของนายหลัวมีขึ้นล่วงหน้าการประชุมเจรจาเรื่อง “ระเบียบปฏิบัติ” (code of conduct) หรือซีโอดี ต่อปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับชาติอาเซียน หลังการเจรจาดังกล่าวล่าช้าออกไปจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19

รายงานระบุว่า การเจรจาซีโอดีเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากทางการจีนยืนกรานให้ระเบียบดังกล่าว นำชาติที่ไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคออกไป (สหรัฐอเมริกา) สร้างความยากลำบากต่อจุดยืนของชาติอาเซียนที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งสองชาติ

คำกล่าวของนายหลัวมีขึ้นภายในงานสัมนานานาชาติที่มีเจ้าภาพเป็นกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยนายหลัวยืนยันว่า รากเหง้าความขัดแย้งกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้นั้นเป็นเพราะทางการสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ถ้อยแถลงของนายหลัวนั้นจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีต่อจีน เนื่องจากจีนจำเป็นต้องการการสนับสนุนจากชาติเพื่อนบ้านในการเพิ่มเงื่อนไขการต่อรองกับทางการสหรัฐฯ โดยนายหลัวเองก็ไม่ได้เสนอหนทางการแก้ปัญหาอื่นใดเพิ่มจากเดิม

Chinese H-6K bomber patrols the islands and reefs in the South China Sea. (Liu Rui/Xinhua via AP, File)

“นอกเหนือไปจากการแทรกแซงปัญหาทะเลจีนใต้แล้ว สหรัฐยังได้สร้างกลุ่มชาติ 4 ชาติขึ้นมาในภูมิภาคนี้เปรียบเสมือนกับนาโต้เล็กๆ เพื่อต่อต้านทางการจีน (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย) สะท้อนแนวคิดของสหรัฐที่ยังติดอยู่กับภาพสงครามเย็นในอดีต” และว่า “จีนไม่ใช่ชาติที่ชอบสร้างปัญหา แต่เราก็ไม่เคยเกรงกลัวปัญหาเช่นกัน

คำกล่าวของนายหลัวเป็นการตอบโต้ไปยังนายสตีเฟน บีกัน รมว.ช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้เคยกล่าวถึงแนวคิดขยายกลุ่ม 4 ชาติเดิมให้ใหญ่ขึ้นเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ขณะที่นายไมก์ พอมเพโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ระบุถึงหนทางที่จะกดดันจีนให้กลับไปอยู่ที่ที่สมควรอยู่ หรือเป็นอย่างที่สมควรเป็น

นายจู เฟิง นักวิเคราะห์จากศูนย์ความร่วมมือศึกษาปัญหาทะเลจีนใต้ที่มหาวิทยาลัยเมืองนานกิง มองว่า ถ้อยแถลงของนายหลัวนั้นเป็นการสร้างแรงกดดันมหาศาลให้ทางการสหรัฐฯ ทั้งทางการทูตและการทหาร

“การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯกำลังใกล้เข้ามา รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามส่งเสริมให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นกับจีน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้ง แต่สิ่งนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงของการปะทะกันด้วยกำลังรบระหว่างสองมหาอำนาจไปด้วย” นายจู ระบุ

รายงานระบุว่า ความตึงเครียดครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนก.ค. 2563 หลังนายพอมเพโอ ปฏิเสธคำกล่าวของจีนที่ว่าจีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ทั้งหมดร้อยละ 90 ของพื้นที่ ว่าเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบสากล เทียบเท่ากับการที่สหรัฐฯ แสดงจุดยืนเคียงข้างคู่ขัดแย้งของจีนในพื้นที่ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของทางการจีนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การต่อต้านสหรัฐ ด้วยการกระชับความสัมพันธ์อย่างแนบชิดกับชาติเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย อาทิ พม่า สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ และในยุโรป สร้างความกังวลให้ประชาคมโลกว่าอาจนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ที่ขั้วอำนาจของโลกแตกออกเป็น 2 ฝ่าย

นายหลัวยังกล่าวหาทางการสหรัฐฯอีกว่า บีบบังคับให้ชาติในภูมิภาคต้องเลือกข้างระหว่างจีนหรือสหรัฐ ถือเป็นความพยายามยุยงปลุกปั่น

“ทางการสหรัฐเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ขณะที่ชาติในภูมิภาคกลับเป็นผู้ที่ต้องทนรับผลกระทบจากปัญหานี้” และว่า “สหรัฐฯกลายเป็นผู้ที่คุกคามสันติภาพของทะเลจีนใต้และภูมิภาคนี้มากที่สุด เรียกว่าเป็นตัวสร้างปัญหาทั้งต่อความร่วมมือ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้ไปแล้ว”

สหรัฐออกโรงแล้ว!

AFP

นอกจากนี้ รมว.ช่วยต่างประเทศจีน ยังปฏิเสธคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการแห่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ ที่นครเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2559 ที่ตัดสินว่า ข้ออ้างของทางการจีนในการอ้างอธิปไตยและบูรณภาพเหนือทะเลจีนใต้ตามประวัติศาสตร์ในอดีต โดยอาศัยหลักฐานเป็นเส้นประ 9 เส้น (ไนน์-แดช-ไลน์) ตามแผนที่โบราณ ว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล ส่งผลให้ฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ร้องได้รับชัยชนะ

นายหลัวยังปฏิเสธความกังวลของหลายฝ่ายต่อการปรากฎกำลังพลของกองทัพจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ในจำนวนนี้ รวมถึงการซ้อมยิงขีปนาวุธข้ามทวีปในพื้นที่ด้วย

“ทั้งจีนและอาเซียนไม่มีใครต้องการให้ทะเลจีนใต้กลายเป็นเวทีแข่งขันกำลังทางทหารกัน เราไม่ต้องการให้ทะเลจีนใต้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับบางชาตินำไปเล่นการเมืองระหว่างประเทศ”

นายคอลลิน โก จากศูนย์ศึกษาและวิเคราะห์ของสถาบันเทคโนโลยีหนานหยาง ที่ประเทศสิงคโปร์ มองว่า จีนจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในด้านความสัมพันธ์กับชาติอาเซียน

“อาเซียนน่าจะต้องการเร่งการเจรจาเรื่องซีโอดีให้แล้วเสร็จ เพราะความไม่แน่นอนจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ความตึงเครียดที่ว่านี้อาเซียนเป็นเงื่อนไขที่อาเซียนอาจนำไปใช้ต่อรองกับจีนได้” นายโก ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องนโยบายการรุกคืบทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค ท่าทีแข็งกร้าวของจีนในทะเลจีนใต้ และล่าสุดเป็นถ้อยแถลงของรมว.ช่วยต่างประเทศจีน ที่ไม่ได้ช่วยทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง ทั้งยังไม่ได้แสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจต่ออาเซียนด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน