ก๊าซฮีเลียม – บีบีซี รายงานการประกาศรางวัล “อิกโนเบล” ครั้งที่ 30 ประจำปี 2563 แก่ผลงานวิทยาศาสตร์หรือผลการวิจัยน่าเหลือเชื่อและดูโง่เขลา แต่ได้รับการยกย่องเพื่อนำมาแก้ปัญหาในโลกความเป็นจริง และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาแล้ว

 

นิตยสารวิทยาศาสตร์แนวขบขัน Annals of Improbable Research มอบรางวัลอิกโนเบลทางออนไลน์เป็นครั้งแรก ไม่ได้จัดที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ สหรัฐอเมริกา เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤตการกระบาดของโควิด-19

รางวัลอิกโนเบลประจำปีนี้ประกอบด้วย 10 สาขา ได้แก่ โสตศาสตร์ จิตวิทยา สันติภาพ ฟิสิกส์ เศรษฐศาสตร์ การจัดการ กีฏวิทยา การแพทย์ แพทยศาสตรศึกษา และวัสดุศาสตร์ ผู้ชนะแต่ละสาขาจะได้รับรางวัลเป็น เงินสด 1 ล้านล้านดอลลาร์ซิมบับเว

A real Nobel Laureate, Andre Geim (bottom-left), prepares to hand the Ig Nobel Acoustics Prize to Stephan Reber (middle-top) and his team

หนึ่งในผลงานโดดเด่นปีนี้เป็นของสาขาโสตศาสตร์ โดย ดร.สเตียฟาน เรียเบอร์ จากมหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดน และคณะนักวิจัย ได้แก่ ทาเคชิ นิชิมูระ, จูดิธ แจนิช, มาร์ก โรเบิร์ตสัน และ เทอร์คัมเซอ ฟิตช์ จากผลงานการกระตุ้นให้ จระเข้ตีนเป็ดเพศเมีย ร้องเสียงดังในห้องสุญญาอากาศเต็มไปด้วย ก๊าซฮีเลียม ที่ปกติเมื่อสูดเข้าไปจะทำให้เสียงแหลมและฟังดูตลก

คณะนักวิจัยทำการทดลองดังกล่าวเพื่อพยายามทำความเข้าใจว่า จระเข้สื่อสารกันอย่างไร และแสดงให้เห็นว่า จระเข้และสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นสามารถบอกขนาดตัวของมันได้จากการเปล่งเสียงของมัน คล้ายกับที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์จำพวกนกทำเวลาส่งเสียงร้อง

“เสียงสะท้อนในช่องเสียงของเราโดยภาพรวมแล้วยิ่งจะเปล่งเสียงในโทนต่ำลง หากตัวเราใหญ่ขึ้น เราไม่ทราบว่าสัตว์เลื้อยคลานที่จริงแล้วมีเสียงสะท้อนหรือไม่ กบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำไม่เข้าข่ายนี้ เราจึงต้องพิสูจน์แนวคิดว่าที่จริงแล้วจระเข้มีเสียงสะท้อนหรือไม่” ดร.เรียเบอร์อธิบาย

ข้อสงสัยนี้ไขคำตอบได้ด้วยการให้จระเข้อยู่ในถังปิดเติมอากาศปกติสลับกับการเพิ่มก๊าซออกซิเจนและก๊าซฮีเลียม (เฮลิออกซ์) ปรากฏว่าการสั่นสะเทือนของ เนื้อเยื่อเสียง (vocal tissues) ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เสียงที่จระเข้สามารถเปล่งออกมาได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากความเร็วของเสียงมีความแตกต่างในส่วนผสมของก๊าซต่างๆ

ผลการวิเคราะห์คลื่นความถี่เสียงยืนยันว่า ขนาดตัวจระเข้มีความสัมพันธ์กับเสียงสะท้อนที่ออกมา แต่คณะนักวิจัยยังไม่ได้ทดสอบ แม้ว่าไม่ว่าจระเข้จะสามารถรับสัญญาณเหล่านี้ได้หรือไม่

President Donald Trump at a daily briefing on the coronavirus in the White House on March 31, 2020. MANDEL NGAN/AFP

นอกจากนี้ สาขาแพทยศาสตร์ศึกษาโดดเด่นไม่แพ้กัน ผลงานของบรรดาผู้นำโลกจาก 9 ประเทศ ที่ใช้การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นบทเรียนสอนให้โลกรู้ว่า นักการเมืองทำให้ชีวิตคนได้รับผลกระทบและตายได้ทันทีมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทำ ได้แก่

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู แห่งบราซิล นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที แห่งอินเดีย

ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ แห่งเม็กซิโก ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน แห่งตุรกี ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค แห่งเบลารุส และ ประธานธิบดีกูร์บันกูลี เบียร์ดีมูฮาเมดอฟ แห่งเติร์กเมนิสถาน

 

รางวัลอิกโนเบล 8 สาขาที่เหลือ

สาขาจิตวิทยา: มีรันดา เจียโกมิน และ นิโคลัส รู จากแคนาดา คิดค้นวิธีการแยกแยะผู้เป็นโรคหลงตัวเองด้วยการดูคิ้ว

สาขาสันติภาพ: รัฐบาล อินเดีย และ ปากีสถาน ให้นักการทูตแอบกดกริ่งประตูบ้านของกันและกันกลางดึกแล้ววิ่งหนีให้ทันก่อนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเปิดประตู

สาขาฟิสิกส์: อีวาน มักซีมอฟ และ อันเดรย์ โปตอตสกี จากออสเตรเลีย ทดลองว่ารูปร่างไส้เดือนที่มีชีวิตอยู่จะเป็นอย่างไรเมื่อสั่นสะเทือนไส้เดือนด้วยความถี่สูง

สาขาเศรษฐศาสตร์: คณะนักวิจัยจากหลายประเทศพยายามหาจำนวนความสัมพันธ์ระหว่าง ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ประชาชาติในหลายประเทศ กับ ค่าเฉลี่ยของการจูบปากกัน

สาขาการจัดการ: สี กวน-กัน, โม่ เทียน-เสียง, หยาง กัง-เชิง, หยาง กวง-เชิง และ หลิง เซียน-ซี มือปืนรับจ้างทั้งห้า แห่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน ทำสัญญารับช่วงจ้างฆ่าคนให้มือปืนคนอื่นเป็นทอดๆ กระทั่งมือปืนสุดท้ายเตี๊ยมกับเหยื่อเพื่อจัดฉากฆ่า และแจ้งตำรวจย้อนกลับไปจับมือปืนทั้งหมดจนถึงตัวผู้จ้างวาน

อ่านเพิ่มเติม: เถ้าแก่จ้างเก็บศัตรู มือปืนดันจ้างคนอื่นเป็นทอดๆ จบด้วยจัดฉากฆ่า-แจ้งตำรวจ!

สาขากีฏวิทยา: ริชาร์ด เวตเตอร์ รวบรวมหลักฐานว่า นักกีฏวิทยาหลายคน (นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาแมลง) กลัว แมงมุม ซึ่งไม่ใช่แมลง

สาขาการแพทย์: นินเกอ ฟือลิงค์, ดามีอาน เดนิส และ อาร์เนาด์ ฟัน ลอน จากเนเธอร์แลนด์ วินิจฉัยโรคที่ไม่รู้จักมานานอย่าง มิโซโฟเนีย (Misophonia) ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานจากที่ได้ยินคนส่งเสียงเคี้ยว

สาขาวัสดุศาสตร์: คณะนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่า มีดทำจากอุจจาระแช่งแข็งของมนุษย์ใช้งานได้ไม่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน