เดอะ การ์เดียนรายงานวันที่ 14 ก.ย. ว่า ชาวบ้านในเคนยาและนักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าพากันตื่นเต้นดีใจที่ได้เห็นยีราฟสีขาวที่ไม่ได้มีตัวเดียว แต่เป็นคู่กัน

ยีราฟขาวคู่นี้เป็นแม่ลูกกัน มีลักษณะยีนผิดปกติที่เรียกว่า ภาวะด่าง หรือลิวซิซึม (leucism) ขัดขวางการสร้างเม็ดสีของผิว แตกต่างจากภาวะผิวเผือก หรือ อัลบินิซึม (albinism) เพราะภาวะด่างจะยังคงผลิตเม็ดสีเข้มในเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้ยีราฟขาว มีดวงตาสีดำ และสีอื่นๆ

หลังจากชาวบ้านร่ำลือกันที่เห็นยีราฟสีขาว นักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าก็เข้าไปสำรวจยีราฟนี้ในเขตอนุรักษ์ไอชาคบินี ฮิโรลา ที่เขตการิสสาของเคนยา พื้นที่นี้บริหารโดยโครงการอนุรักษ์ฮิโรลา และกลุ่มเอ็นจีโอที่มุ่งอนุรักษ์กวางฮิโรลาที่เสี่ยงสูญพันธุ์และหาได้ยากมากที่สุดในโลก

กลุ่มอนุรักษ์ดังกล่าวโพสต์ภาพและข้อความรายงานการพบเห็นยีราฟขาวครั้งแรกของชาวบ้านในเดือนมิถุนายนปีนี้

“พวกมันใกล้มาก และสงบนิ่งมาก ไม่ได้ตื่นกลัวกับการที่เราเข้าไปดู ตัวแม่เดินถอนไปเล็กน้อย และส่งสัญญาณให้ลูกเข้าไปหลบหลังพุ่งไม้” นักอนุรักษ์กล่าวและว่าจะขึ้นทะเบียนยีราฟแม่ลูกนี้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะเท่าที่เก็บข้อมูลมา การพบเห็นยีราฟขาวครั้งนี้เป็นครั้งที่สามเท่านั้น ต่อเนื่องจากที่มีคนเคยพบในสถานที่นี้เมื่อเดือนมีนาคม 2559 และในแทนซาเนีย เมื่อเดือนมกราคม 2559

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน