วิเคราะห์ชี้ขัดแย้งสหรัฐ-จีนไม่จบ กูรูคาดไบเดนเป็นปธน.มาดนุ่มแต่เชือดนิ่ม

วิเคราะห์ชี้ขัดแย้งสหรัฐ-จีนไม่จบ – วันที่ 10 พ.ย. ซีเอ็นเอ็นรายงานบทวิเคราะห์ทิศทางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ว่าจะไม่ยุติลงด้วยเพียงเพราะนายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่จะความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งสองชาติจะลุกลามจนแบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้ว

นายอเล็กซ์ คาปรี นักวิเคราะห์จากมูลนิธิไฮร์ริก และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ กล่าวว่า รากเหง้าทางความคิด และระบบของมหาอำนาจทั้งสองชาติมีความแตกต่างกันแบบสุดขั้ว และตนคิดว่าการแข่งขันกันทุกมิติระหว่างสหรัฐกับจีนจะลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ

พิพาทถึงแก่น

รายงานระบุว่า ปี 2563 ที่กำลังจะผ่านไปนั้นสะท้อนความตึงเครียดรุนแรงระหว่างสหรัฐและจีนชัดเจน แม้ทั้งสองชาติจะบรรลุการแก้ไขปัญหาทางด้านการค้าระหว่างกันเมื่อเดือนม.ค. แต่ทั้งสองชาติก็ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจระหว่างกันอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ปัญหาเหล่านี้ เช่น ข้อครหาที่ทางการสหรัฐกล่าวหาว่าทางการจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ รวมทั้งปฏิบัติต่อธุรกิจสัญชาติอเมริกันไม่เท่าเทียมกับธุรกิจสัญชาติจีน

นอกจากนั้นบรรดานักการเมืองจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมเครติก หรือเดโมแครต ต่างพากันหวาดเกรงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนที่อาจถูกนำมาใช้เพื่อสอดแนมความเคลื่อนไหวของสหรัฐได้ ส่งผลให้ทางการจีนถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ

ข้อนี้สะท้อนได้จากมติสนับสนุนจากสภาคองเกรสอย่างล้นหลามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผลักดันให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐขึ้นทะเบียน หัวเว่ย ผู้พัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารชั้นนำของโลกจากจีน เป็นองค์กรไม่ถึงประสงค์ และห้ามเอกชนอเมริกันทำธุรกิจกับหัวเว่ย

สถานการณ์ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความบาดหมางระหว่างสองชาติ กลายเป็นการกล่าวโทษกันไประหว่างจีนในฐานะผู้ปล่อยให้เกิดการระบาดกับสหรัฐที่ล้มเหลวในการรับมือกับโรคระบาด ตลอดจนการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ นำเรื่องนี้มาขยายแผลด้วยการเรียกเชื้อโรคตัวนี้ว่า “ไวรัสจีน” เรียกเสียงประณามจากวงการวิทยาศาสตร์และจีน

ยังไม่นับรวมถึงข้อครหาทางด้านสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐที่มีต่อทางการจีน กรณีการคุกคามปราบปรามชาวมุสลิมอุยกูร์ที่มณฑลซินเกียงด้วย ความขัดแย้งทั้งหมดที่กล่าวมาจะยังมีอยู่และลุกลามมากขึ้นแม้นายไบเดนจะมาเป็นผู้นำของสหรัฐก็ตามที

นายวิลเลียม ไรนช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติ อดีตประธานสภาหอการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐนานกว่า 15 ปี ระบุว่า นายไบเดน ในฐานะประธานาธิบดี จะต้องผจญอยู่กับแรงกดดันจากบรรดาสมาชิกวุฒิสภาของรีพับลิกันที่จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง และล้วนแล้วสนับสนุนการจัดการขั้นเด็ดขาดกับทางการจีน

มาดนุ่มแต่เชือดนิ่มๆ

นายคาปรี มองว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนไปชัดเจนที่สุด คือ มาดการทำงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายไบเดน ที่จะมีความสุขุมนุ่มลึก ไม่โผงผาง เลือดร้อน ใช้ถ้อยคำรุนแรงตรงไปตรงมาเหมือนกับสมัยของนายทรัมป์ เช่น “สหรัฐจะยอมให้จีนข่มขืนเราต่ออีกไม่ได้แล้ว” และ “ไวรัสจีน” เป็นต้น

นักวิเคราะห์ผู้นี้มองว่า คำกล่าวของรัฐบาลสหรัฐจะมีลักษณะของนักการทูตมากขึ้น โดยหากจะใช้มาตรการลงโทษรุนแรงก็จะต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายที่กินเวลายาวนาน ไม่เหมือนสมัยของนายทรัมป์ที่ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อจัดการแบบทันทีทันใด จนถูกกล่าวหาว่าเป็นคนอำนาจนิยม

คาปรี ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐโกลาหลกันยกใหญ่เนื่องด้วยคำสั่งแบบฉับพลันทันใดของนายทรัมป์ ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐต้องเผชิญกับคดีความหลายพันคดีจากบรรดาเอกชนอเมริกันเองที่ฟ้องร้องรัฐ ว่าการขึ้นภาษีสินค้าจีนสร้างความเดือดร้อนให้ธุรกิจอเมริกันอย่างมาก

จีนส่องานเข้าไบเดนร้ายลึก

ด้านความเคลื่อนไหวล่าสุดจากทางการจีนหลังนายไบเดนชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศจีนเพียง ระบุว่า ได้รับทราบชัยชนะของนายไบเดนแล้ว โดนระบุเพียงสั้นๆ ว่าทั้งสองชาติควรยกระดับการเจรจาและการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ดีและมีเสถียรภาพ

นักวิเคราะห์ มองว่า บรรดานักการเมืองและนักการทูตของจีนยังมีความเห็นแตกต่างกันไป และเป็นที่ถกเถียงว่าการที่สหรัฐได้ผู้นำใหม่อย่างไบเดนมาแทนทรัมป์ดีหรือไม่ดีกว่ากันกันแน่

นายเอียน เบรมเมอร์ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ยูเรเชีย กรุ๊ป กล่าวว่า บรรดานักการทูตสายบู๊ของจีนน่าจะชอบให้ทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐต่อไปมากกว่า เนื่องจากทรัมป์ก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตร

นอกจากนี้ นโยบายและพฤติกรรมของทรัมป์ยังทำให้จีนสามารถสร้างความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์ได้ง่าย โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิมนุษยชน และการเปิดประเทศเสรี

เลี่ยงไม่ได้การเมืองโลกแตกสองขั้ว

บรรดานักวิเคราะห์จาก เจพี มอร์แกน บริษัทด้านการวิเคราะห์การตลาดในสหรัฐ ระบุว่า ทั้งสหรัฐและจีนจะเดินหน้าการลดระดับความพึ่งพากันทางเศรษฐกิจต่อไป

ขณะที่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั้งสองชาติจะทวีความดุเดือดขึ้นไปอีก อาทิ ความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเครือข่ายการสื่อสารยุคที่ 5 หรือ 5จี เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตั้ม ที่ถูกคาดว่าจะเป็นพัฒนาการขั้นใหญ่ขั้นต่อไปของคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และเทคโนโลยีทางชีวภาพ เช่น หุ่นยนต์ หุ่นไซบอร์ก (กึ่งชีวภาพ) และหุ่นแอนดรอยด์ (ชีวภาพเต็มรูป)

เจพี มอร์แกน มองว่า การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีสาขาเหล่านี้จะทำให้ทั้งสองชาติลดความพึ่งพากันทางเศรษฐกิจ จำกัดการแบ่งปันองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี และเลวร้ายที่สุด คือ การยุติการค้าสินค้าบางชนิดระหว่างกันด้วย

บทวิเคราะห์นี้สอดคล้องกับมุมมองของนายคาปรี ที่ระบุว่า ทางการจีนกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวสำหรับการดำรงอยู่ในฐานะมหาอำนาจท่ามกลางการเมืองโลกที่จะแตกเป็นสองขั้วในอีกไม่ช้า

“หากคุณคือจีน คุณจะต้องไม่เปลี่ยนท่าทีครับ คุณจะต้องเดินหน้า แล้วยิ่งเดินให้ไวขึ้น” คาปรี ระบุ

นักวิเคราะห์ผู้นี้คาดว่า จีนจะลดการพึ่งพาต่อผลิตภัณฑ์อเมริกัน สะท้อนจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา 5 ปี ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่ระบุไว้ชัดเจนให้ลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากสหรัฐ และหันมาพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยี และแสนยานุภาพ เพื่อให้จีนพึ่งตัวเองได้ภายใน 5 ปี

คาปรี ระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของจีนตอนนี้คือการต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสหรัฐ นอกจากนี้ ด้วยมาดของนายไบเดน อาจทำให้สหรัฐและชาติพันธมิตรกลับมาแน่นแฟ้นกันและผลักดันวาระในเวทีสากลที่มีลักษณะต่อต้านจีนได้ง่ายขึ้นด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน