เวียดนาม – วันที่ 19 พ.ย. บีบีซี รายงานว่า เวียดนามฟื้นตัวเศรษฐกิจเสียหายจากโควิด-19 และเป็นเพียงชาติเดียวในอาเซียนที่มีเศรษฐกิจเติบโตปีนี้ ตามข้อมูลตัวเลขล่าสุดของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตถึงร้อยละ 2.4 ปีนี้

ไอเอ็มเอฟระบุว่า ความสำเร็จดังกล่าวของเวียดนามมาจากขั้นตอนเด็ดขาดเพื่อป้องกันผลกระทบต่อทั้งสาธารณสุขและเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมีเพียง 1,288 คน เสียชีวิต 15 ราย

ไอเอ็มเอฟพยากรณ์ด้วยว่า เวียดนามจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 แนวโน้มเติบโตถึงร้อยละ 6.5 เนื่องจากการทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศดำเนินปกติต่อไป

แม้ว่าเวียดนามขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขเหมือนหลายประเทศมั่งคั่งกว่า แต่เวียดนามได้รับการยกย่องมาตรการสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และใช้การตรวจหาเชื้อเชิงกลยุทธ์ร่วมกัน และติดตามเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อ

แม้ว่าวียดนามจะมีเศรษฐกิจเติบโตช้าลงปีนี้ และภาคการท่องเที่ยวเคยเฟื่องฟูได้รับผลกระทบเลวร้ายเป็นพิเศษ แต่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบเศรษฐกิจเลวร้ายสุดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้

 

อานิสงส์ “เวิร์กฟรอมโฮม”

ไมเคิล โคคาลารี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ วีนาแคปิตอล (VinaCapital) บริษัทลงทุนของเวียดนาม กล่าวถึงหลายปัจจัยช่วยลดผลกระทบเศรษฐกิจของเวียดนามว่า ผลพลอยได้ไม่คาดคิดดังกล่าวอาจมาจากคนทำงานจากบ้านเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทั่วโลก

“คนซื้อคอมพิวเตอร์วางตักเครื่องใหม่หรือเฟอร์นิเจอร์สำนักงานใหม่ ทั้งทำงานและใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น สินค้าจำนวนมากผลิตในเวียดนาม” นายโคคาลารีกล่าว

การส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐเพิ่มร้อยขึ้นละ 23 ในสามไตรมาสแรกปีนี้ เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 26

 

ภาษีศุลกากร

ภาคการผลิตของเวียดนามเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากบรรดาธุรกิจต่างเริ่มมองลู่ทางอื่นนอกจากจีนที่ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีนที่ยังยืดเยื้อทำส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศน่าสนใจน้อยลง เนื่องจากเรียกเก็บภาษีส่งออกหลายรายการ

บรรดาบริษัทข้ามชาติจึงเริ่มมาผลิตในเวียดนาม เช่น แอปเปิล และ ซัมซุง ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก โดยเฉพาะแอปเปิล มีแผนผลิต แอร์พอดส์ หูฟังสตูดิโอระดับไฮเอนด์ในเวียดนาม

นายโคคาลารีอธิบายว่า การระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้บรรดาบริษัทพิจารณาการผลิตที่เวียดนามมากขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องกระจายห่วงโซ่อุปทาน

“เมื่อโควิด-19 ระบาด คุณมีห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และมีเพียงซัพพลายเชนของจีน แต่ไม่สามารถผลิตได้ จึงเป็นปัญหาเร่งด่วน” นายโคคาลารีเสริม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน