ภาพถ่ายดาวเทียมเผย – วันที่ 24 พ.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า แม็กซาร์ เทคโนโลจีส์ ผู้ให้บริการดาวเทียมของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุด เผยจีนก่อสร้างพื้นที่ในหิมาลัยตามพรมแดนพิพาทกับอินเดียและภูฏาน ที่เป็นที่ตั้งแห่งความขัดแย้งยาวนานหลายเดือนในปี 2560

ภาพถ่ายดาวเทียมเผย

MAXAR Technologies

ภาพถ่ายดังกล่าวบันทึกวันที่ 28 ต.ค. 2563 เผยมีการก่อสร้างสำคัญๆ อย่างชัดเจนตลอดทั้งหมดพื้นที่หุบเขาแม่น้ำ ทอร์ซา (Torsa) แถลงการณ์แม็กซาร์ระบุด้วย ยังมีการก่อสร้างหลุมหลบภัยทหาร (military storage bunkers) แห่งใหม่ ใกล้บริเวณที่ราบสูง ดอกลัม (Doklam) ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างจีน อินเดีย และภูฏาน

แม็กซาร์ระบุว่า ภาพถ่ายใหม่เผย หมู่บ้านปังดา (Pangda Village) ที่มีการก่อสร้างใหม่ บนที่ราบสูงดอกลัมฝั่งภูฏาน ตลอดจนคลังเสบียงในดินแดนจีน ซึ่งอยู่ใกล้จุดพิพาทตึงเครียดระหว่างกองกำลังอินเดียและจีนเมื่อปี 2560

พลตรีเวตสอป นัมกเยล เอกอัครราชทูตภูฏานประจำอินเดีย ออกแถลงการณ์ “ไม่มีหมู่บ้านจีนภายในภูฏาน” ขณะที่กระทรวงต่างประเทศจีนไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุด ส่วนกระทรวงต่างประเทศอินเดียไม่แสดงความคิดเห็นเช่นกัน

ภาพถ่ายดังกล่าวมีการรายงานเป็นครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ นิวเดลี ของอินเดีย

MAXAR Technologies

ที่ราบสูงดอกลัม แผ่นดินแถบเล็กที่มีพรมแดนกับสามประเทศดังกล่าว ถูกอ้างสิทธิ์จากทั้งจีนและภูฏาน แต่ยังมีความสำคัญยุทธศาสตร์สำหรับอินเดียด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้ คอคอดสิริกุรี (Siliguri Corridor) ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญยุทธศาสตร์และมีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากยังเป็นสะพานแห่งเดียว เชื่อมระหว่าง 8 รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย กับประเทศอื่นๆ

ไซเอด ฟัซล์-เอ-ไฮเดอร์ นักวิเคราะห์ เขียนในบทความที่ตีพิมพ์โดยสถาบันโลวีของออสเตรเลียเมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า “ด้วยระยะทางเพียง 130 กิโลเมตร กองทัพจีนสามารถตัดขาดภูฏาน รัฐเบงกอลตะวันตก และกลุ่มรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ราว 50 ล้านคนในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือจะถูกแยกออกจากประเทศ”

ด้านบทความในหนังสือพิมพ์ โกลเบิล ไทม์ สื่อทางการจีน ระบุเมื่อวันจันทร์ที่ 23 พ.ย. ว่า ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนหักล้างข้ออ้างของแม็กซาร์และรายงานในสื่ออินเดียที่ว่า หมู่บ้านแห่งหนึ่งถูกก่อสร้างขึ้นในดินแดนภูฏาน

อย่างไรก็ตาม การที่จีนและภูฏานมีพรมแดนติดกันเกิดความขัดแย้งกันอย่างมาก ความขัดแย้งในปี 2560 ปะทุขึ้นภายหลังที่ภูฏานกล่าวหาจีนก่อสร้างถนนภายในดินแดนของภูฏานเป็นการละเมิดโดยตรงข้อผูกพันตามสนธิสัญญา ขณะที่จีนซึ่งไม่มีความสัมพันธ์การทูตกับภูฏาน ปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีน

ตามปกติแล้ว ภูฏานเป็นพันธมิตรแข็งแกร่งของอินเดีย อาศัยกรุงนิวเดลีในการฝึกอบรมกองกำลังติดอาวุธ และร่วมมือนโยบายต่างประเทศอย่างใกล้ชิดกับอินเดีย อย่างไรก็ตาม ดูจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง เมื่อจีนและอินเดียต่างแข่งขันกัน

ล่าสุด เมื่อกลางปี จีนและอินเดียปะทะนองเลือดตามพรมแดนพิพาทในภูมิภาคลาดักห์ของหิมาลัย คร่าชีวิตทหารอย่างน้อย 20 นาย เป็นความขัดแย้งเลวร้ายสุดระหว่างสองประเทศนับตั้งแต่สงครามพรมแดนพิพาทเดียวกันเมื่อปี 2505

A Chinese camp in the Galwan Valley in the Aksai Chin.

แม้ว่าทั้งจีนและอินเดียจะเห็นพ้องลดความตึงเครียดลง แต่ภาพถ่ายดาวเทียมของแม็กซ์เผยจีนยังเสริมความแข็งแกร่งตามแนวชายแดนกับอินเดีย ทั้งที่การก่อสร้างเพิ่มเติมไม่น่าจะเป็นไปได้ในช่วงนี้ของปี เนื่องจากสภาพฤดูหนาวรุนแรงในเทือกเขาหิมาลัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อินเดีย-จีน : ปะทะรุนแรงในดินแดนแคชเมียร์ถึงขั้นเสียชีวิตครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน