อาหรับสปริง 10 ปีมานี้ ประชาธิปไตยจบไม่สวยและรวดร้าว

อาหรับสปริง 10 ปีมานี้ – ฮาลา โกรานี ผู้สื่อข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานย้อนความทรงจำกลับไปเมื่อปี 2554 หลังเกิดการปฏิวัติอาหรับ หรือ อาหรับสปริง 10 ปีมานี้ ที่นำไปสู่การปฏิวัติโค่นล้ม นายพลฮอสนี มูบารัก ให้พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ หลังครองอำนาจผู้นำมายาวนาน จนสำเร็จวันที่ 11 ก.พ. 2554

การลุกฮือของประชาชนช่วงเวลานั้น ทำให้พวกนักเลงหัวไม้ที่หนุนรัฐบาลถูกปล่อยออกมาป่วนประชาชนและพุ่งเป้าโจมตีกลุ่มผู้ประท้วง ผู้สื่อข่าวที่เกาะติดสถานการณ์และชาวตะวันตก

ฮอสนี มูบารัก

อันธพาลบางคนบุกเข้าไปในโรงแรมที่นักข่าวตะวันตกอาศัยอยู่ทำให้บรรดานักข่าวต้องรีบเก็บข้าวของและวิ่งหนีขึ้นแท็กซี่ออกจากโรงแรมฮิลตันโดยด่วน มุ่งหน้าไปยังโรงแรมที่ปลอดภัยกว่าซึ่งอยู่ห่างออกไป 2-3 กิโลเมตร

ฮาลากล่าวว่านั่งรถไปกับโจ ดูแรน ช่างภาพซึ่งนั่งด้านข้างคนขับ ส่วนแอนเดอสัน คูเปอร์ ผู้ประกาศข่าวซีเอ็นเอ็นนั่งเบาะหลัง

อาหรับสปริง 10 ปีมานี้

CNN’s Anderson Cooper, Hala Gorani and Ben Wedeman anchored shows from Cairo during the Arab Spring in 2011.

ขณะที่รถแล่นผ่านสะพาน 6 ตุลาคม ม็อบมาล้อมรถแท็กซี่และทุบกระจกรถ บางคนขว้างปาก้อนหินใส่รถ คนขับตกตะลึงนั่งนิ่งทำอะไรไม่ถูก ฮาลาจึงพูดเป็นภาษาอารบิกเสนอให้เงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15,000 บาทเพื่อแลกกับการเปิดทางให้รถไปต่อ

เมื่อไปถึงทางเข้าโรงแรมแมริออท นิก คริสตอฟ ผู้สื่อข่าวนิวยอร์กไทมส์ มาบอกด้วยความหวังดีว่าผู้สื่อข่าวบางคนเปลี่ยนชื่อสำหรับเช็คอินโรงแรม หากกลุ่มนักเลงตามมาขอดูรายชื่อผู้เข้าพักจะได้ไม่รู้ว่าผู้สื่อข่าวต่างชาติอยู่ห้องไหน แต่ชื่อฮาลาเป็นภาษาอารบิกจึงคิดว่าน่าจะไม่เป็นไร

อาหรับสปริง 10 ปีมานี้

การชุมนุมเนืองแน่นกลางกรุงไคโร / AP PHOTO

คืนนั้น ทีมซีเอ็นเอ็นถ่ายทอดรายงานข่าวบนพื้นของห้องพักโรงแรม ตนอ่านข่าวด่วนร่วมกับเบน เวเดอแมน หัวหน้าสำนักงานซีเอ็นเอ็นประจำกรุงไคโรและคูเปอร์ โดยต้องนั่งบนกล่องเก็บอุปกรณ์กล้องและปรับแสงให้อ่อนส่องเฉพาะใบหน้าเพื่อจะได้ไม่สะดุดตาเมื่อมองมาจากภายนอก

ความหวังประชาธิปไตย

กลุ่มที่สวามิภักดิ์มูบารักและรัฐบาลตอบโต้ผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างต่อเนื่องนานหลายวัน แต่ในที่สุด มูบารักถูกโค่นลงจากเก้าอี้ผู้นำ เมื่อวันที่ 11 .. 2554 หลังจากการประท้วงยืดเยื้อเป็นวันที่ 17 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ ท่ามกลางความหวังว่าการเล่นพรรคเล่นพวก คอร์รัปชัน และตำรวจใช้ความรุนแรงจะหมดไปและประชาธิปไตยจะเบ่งบาน

อาหรับสปริง 10 ปีมานี้

Massive crowds throng Cairo’s Tahrir Square during the Arab Spring in February 2011. / CNN

หลังจากนั้นไม่นาน ฮาลารายงานข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีอียิปต์ในปี 2555 ซึ่ง นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี จากพรรคภารดรภาพมุสลิมคว้าชัยชนะ

แต่ปีถัดมา ทหารกลับมาใช้กำลังยึดอำนาจจากกลุ่มอิสลามและกองทัพกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง หลังจากที่อดทนดูการทดลองประชาธิปไตยได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ

โมฮัมเหม็ด มอร์ซี FILE – In this May 20, 2012 file photo, then Muslim Brotherhood’s presidential candidate Mohammed Morsi holds a rally in Cairo, Egypt. (AP Photo/Fredrik Persson, File)

ความฝันสูญสลาย

สัปดาห์แรกของการเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ด้วยการมองในแง่ดีเพราะคิดว่าระบอบการปกครองโดยประชาชนอาจต้องใช้เวลาและผ่านความเจ็บปวดมากกว่าผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่ 10 ปีผ่านไป ผู้สื่อข่าวคงต้องยอมรับความจริงอันแสนเจ็บปวด ทุกวันนี้ แกนนำกลุ่มผู้ประท้วงถูกเนรเทศหรือถูกคุมขังหรือมีชะตากรรมที่เลวร้ายกว่านั้น

หากมองดูในภูมิภาคเดียวกันก็จะเห็นภาพสะเทือนใจยิ่งกว่า เช่น ซีเรีย รัฐบาลใช้ความรุนแรงกดขี่บีฑาผู้ประท้วงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้ประท้วงอย่างสงบถูกแทนด้วยกลุ่มกบฎหัวรุนแรงและจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลที่มีกลุ่มภายนอกหนุนหลัง

ปัจจุบัน ผู้สื่อข่าวที่ผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติอียิปต์ในปี 2554 ยังคงสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่ผ่านความเป็นความตายมาก่อน แต่การปฏิวัติครั้งแล้วครั้งเล่าในอียิปต์ไม่ได้ก่อให้เกิดความหมายเท่าใดนัก

โลกอาหรับอาจเลวร้ายกว่าเมื่อก่อนเกิดอาหรับสปริง และคงต้องรอคนรุ่นต่อไปออกมาเรียกร้องเสรีภาพจากผู้นำ

////

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อาหรับสปริง : 10 ปีหลังการลุกฮือทั่วตะวันออกกลาง ประชาชนสุขขึ้นหรือทุกข์ลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน