UNSC 15 ประเทศ “ร่วมประณาม” พม่าใช้กำลัง สหรัฐ “แบนลูก” มิน อ่อง หล่าย
UNSC 15 ประเทศ “ร่วมประณาม” – วันที่ 11 มี.ค. เอเอฟพี และรอยเตอร์รายงานสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังยืดเยื้อใน ประเทศเมียนมา (พม่า) ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพเมียนตาต่อการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง รวมถึงเรียกร้องให้กองทัพแสดงความยับยั้งชั่งใจต่อการใช้กำลัง แต่ไม่ได้แถลงตำหนิกองทัพเมียนมาต่อการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเมียนมา (เอเอพีพี) ระบุมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่มากกว่า 60 ราย และราว 1,800 คนถูกจับกุมคุมขัง
แถลงการณ์ร่วมของสมาชิก 15 ประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสมาชิกไม่ถาวรอีก 10 ประเทศ กล่าวประณามอย่างยิ่งยวดต่อการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสันติ ครอบคลุมผู้หญิง เยาวชน และเด็ก
“คณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอเรียกร้องให้กองทัพใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่และย้ำว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” โดยถ้อยแถลงที่จะประณามการก่อรัฐประหารและการข่มขู่ถึงความเป็นไปได้ในการใช้ความรุนแรงต่อเนื่องถูกถอดออกจากข้อความร่างของทางการอังกฤษ
ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์รายงานว่าได้เห็นแถลงฉบับดังกล่าวซึ่งไม่เพียงประณามกองทัพเมียนมา ยังระบุว่ากำลังพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรขั้นต่อไป แต่เพราะผู้แทนจากจีน รัสเซีย อินเดีย และเวียดนามเสนอปรับร่างแถลงการณ์ ส่งผลให้ถ้อยคำประณามกองทัพเมียนมาไม่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ฉบับล่าวสุด
นอกจากนี้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการจำกัดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคม สมาชิกสหภาพแรงงาน และสื่อมวลชน คณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอแสดงจุดยืนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา ความจำเป็นในการรักษาสถาบันและกระบวนการอันเป็นประชาธิปไตย หยุดยั้งจากการใช้ความรุนแรง เคารพสิทธิมนุษยชนรวมทั้งเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างสมบูรณ์ และรักษาหลักนิติธรรม
ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวหวังว่าแถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงฯ จะผลักดันให้กองทัพเมียนมาตระหนักว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักโทษทางการทุกคนต้องได้รับการปล่อยตัว และกองทัพต้องเคารพผลการเลือกตั้งที่ประชาชนเป็นผู้เลือกแล้วเมื่อเดือนพ.ย.2563
วันเดียวกัน นายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องลดวิกฤตในเมียนมา “ตอนนี้คือเวลาของการลดระดับความรุนแรง นี่คือเวลาของการทูต นี่คือเวลาของการเจรจา” นายจางระบุภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงฯ ออกแถลงการณ์ร่วม และว่ารัฐบาลจีนได้เข้าร่วมการเจรจาเพื่อออกแถลงการณ์ร่วมอย่างสร้างสรรค์ นับเป็นสิ่งสำคัญที่สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ จะเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกัน และหวังว่าข้อความนี้จะนำไปสู่การผ่อนคลายสถานการณ์ในเมียนมา
“ประชาคมโลกควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเมียนมาได้จัดการกับความแตกต่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย นโยบายมิตรภาพของจีนที่มีต่อเมียนมามีไว้สำหรับประชาชนชาวเมียนมาทุกคน จีนพร้อมจะมีส่วนร่วมและติดต่อสื่อสารกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีบทบาทที่จะทำให้สถานการณ์ปัจจุบันทุเลาลง” นายจางกล่าว
ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐแถลงเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรลูก 2 คนของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้นำการรัฐประหาร ได้แก่ นายออง ปเย โซน และนางขิ่น ติรี เต๊ต โมน ซึ่งทั้งคู่เป็นนักธุรกิจและมีบริษัทหลายแห่งในเครือ รวมถึงบริษัทมายเทล ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของเมียนมา
ด้าน นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงเตือนกองทัพเมียนมาว่าอาจมีการลงโทษเพิ่มเติม “เราจะไม่ลังเลที่จะดำเนินการเพิ่มเติมกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงและปราบปรามเจตจำนงของประชาชน” นายบลิงเคนระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: