คนฝรั่งเศสฮือแค้น – วันที่ 18 มี.ค. เดอะซัน และ เดอะการ์เดียน รายงานกระแสความโกรธแค้นไปทั่วฝรั่งเศสต่อกรณีที่ศาลสูงสุดตัดสินให้นักผจญเพลิง 20 นาย ที่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนหญิงหลายร้อยครั้งในกรุงปารีส ไม่มีความผิดในข้อหาข่มขืน

AFP

คำพิพากษาชี้ขาดเมื่อวันพุธที่ 17 มี.ค. มีขึ้นหลังจากที่ผู้เสียหายและครอบครัวต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างยาวนานจากเหตุการณ์ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2551 กระทั่งตอนนี้ผู้เสียหายมีอายุ 26 ปีแล้ว

แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสจะมีมติเอกฉันท์เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มี.ค. หรือ 2 วันก่อนวันตัดสินคดี เห็นชอบกฎหมายฉบับใหม่ที่กำหนด อายุยินยอมร่วมประเวณีได้ (age of consent) ที่ 15 ปี เป็นการปูทางเพื่อรับประกัน ผู้ใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาข่มขืน

ท่ามกลางจำนวนคดีการล่วงละเมิดทางเพศและการร่วมประเวณีระหว่างพี่น้องที่มีเด็กไม่บรรลุนิติภาวะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฝรั่งเศส เนื่องจากก่อนหน้าการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ ฝรั่งเศสไม่กำหนดอายุยินยอมร่วมประเวณีได้

กลายเป็นภาระพิสูจน์ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์เป็นการถูกบังคับ หาใช่ความยินยอม เพื่อให้ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาข่มขืนจริง

AFP

นางกูรีน เลอรีช แม่ผู้เสียหาย เผยว่า ลูกสาวถูกหน่วยงานรัฐและระบบกฎหมายทอดทิ้ง หลังถูกนักผจญเพลิง 20 นาย ย่ำยีไม่ต่างกับ “วัตถุทางเพศ” ครอบครัวจูลียังแสดงความโกรธแค้นต่อคำพิพากษาที่ “เหยียดเพศและผิดพลาด” ที่มีพื้นฐานจากคตินิยมที่ล้าสมัย

“คำพิพากษานี้เป็นสร้างความถูกต้องต่อวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาดของดุลอำนาจระหว่างผู้ใหญ่และผู้เยาว์ เป็นการรวมสิ่งสะท้อนที่เหยียดเพศ ผิดพลาด และรุนแรง ของเรื่องเพศ ขณะเดียวกัน ทุกคนในสังคมวันนี้กำลังลุกขึ้นมาต่อต้านคตินิยมที่ล้าสมัยแล้ว ไม่ต้อสงสัยเลยว่าสงสัยเลยว่าคำพิพากษานี้ขัดแย้งกับความเป็นจริงและพันธกรณีระหว่างประเทศของฝรั่งเศส” นางเลอรีชกล่าว

 

จุดเริ่มต้น “นรกบนดิน” ของจูลีเกิดขึ้นในต้นปี 2551 เมื่อ ปีแยร์ นักผจญเพลิงจาก 20 นาย ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากจูลีวัย 13 ปี ในเวลานั้น ซึ่งนอนป่วยอยู่ที่บ้านหลังเกิด อาการชักจากความวิตกกังวล (anxiety seizure) (นักผจญเพลิงในต่างประเทศมีหน้าที่รับผิดชอบเหตุฉุกเฉินทั่วไป ไม่ใช่อัคคีภัยอย่างเดียว)

จากนั้น นักผจญเพลิงปีแยร์ได้หมายเลขโทรศัพท์จากเวชระเบียนของจูลี ซึ่งมีการบันทึกอายุขณะนั้นคือ 13 ปี และยังแนะนำนักผจญเพลิงคนอื่นๆ ให้จูลีรู้จักด้วย

นางเลอรี ผู้เป็นแม่ ถึงกับระบุตอนแรกว่า เธอรู้สึกดีใจที่นักผจญเพลิงปีแยร์โทรศัพท์มาที่บ้านเพื่อสอบถามสุขภาพของลูกสาว เธอแม้กระทั่งอบเค้กให้ทีมงานนักผจญเพลิงเพื่อขอบคุณช่วยลูกสาวตอนป่วย

แต่หลังจากนั้น จูลีถูกนักผจญเพลิงปีแยร์และนักผจญเพลิงอีก 19 นาย ข่มขืนจูลีติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี หรือจนถึงวัย 15 ปี โดยเข้ามาในบ้าน 130 ครั้ง นอกจากนี้ ลงมือในสถานีผจญเพลิง และแม้แต่ในห้องน้ำโรงพยาบาลด้วย กระทั่งจูลีปริปากบอกความจริงแม่ซึ่งแจ้งความต่อตำรวจ

 

ปรากฏว่า นักผจญเพลิง 17 นาย ไม่ถูกตั้งข้อหา ส่วนอีก 3 นาย ยอมรับมีเพศสัมพันธ์กับจูลีจริง แต่อ้างว่าจูลียินยอม จึงถูกตำรวจตั้ง ข้อหารุมข่มขืนและล่วงละเมิดเพศต่อผู้เยาว์อายุ 15 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาพิพากษาแก้ภายหลังเป็น ข้อหาข่มขืนโดยปราศจากความรุนแรง การบังคับขู่เข็ญ หรือการทำให้ผู้เสียหายตกใจ

แม่จูลีให้สัมภาษณ์บีเอฟเอ็มทีวีว่า นักผจญเพลิง 20 นาย เรียกลูกสาวของเธอว่า “coch” (อวัยวะเพศชาย) หรือ “อีตัว” และมีหมายเลยโทรศัพท์ลูกสาวแปะในค่ายนักผจญเพลิงด้วย ในปัจจุบันนี้ จูลีกลายเป็นคนพิการแล้ว หลังกระโดดลงมาจากหน้าต่างจนกระดูกสันหลังหัก 3 ข้อ

เอกสารของพนักงานสอบสวนระบุว่า จูลีเริ่มมีสุขภาพจิตและกายย่ำแย่ลงหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่งผลให้อาการชักรุนแรงขึ้น จูลีกลัวที่จะออกไปข้างนอกบ้านและต้องสั่งยาคลายกังวลมารับประทานเพื่อระงับอาการ

AFP

ในการพิจารณาคดีก่อนหน้านั้นของศาลชั้นต้นและศาลสูง ผู้พิพากษายกฟ้องนักผจญเพลิง 3 นาย ในข้อหาข่มขืน หลังตัดสินว่า จูลีไม่ได้ถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์ และจูลีเป็นฝ่าย “ยั่วและจีบ” (provocative and flirtatious) เอง

ขณะที่จูลี่คัดค้านคำตัดสินต่อศาลสูงสุด โดยโต้แย้งประเด็นอายุ ปัญหาสุขภาพ และการใช้ยารักษาโรค ที่ทำให้โจทก์เซื่องซึม จึงไม่ถือว่าโจทก์ยินยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย

แต่ตุลาการศาลสูงสุดยกคำร้องของโจทก์ โดยตัดสินว่า “โจทก์มีความหยั่งรู้เป็นแน่แท้” (necessary discernment) และไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าโจทก์ถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์

ด้านนางเลอรีชกล่าวว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นใบอนุญาตในการข่มขืนได้ ศาลสูงสุดฝรั่งเศสพลาดโอกาสในการจับกุมผู้ข่มขืน และตอนนี้ตนวางแผนจะนำคดีของลูกสาวไปให้ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปตัดสินต่อไป

ส่วนนักผจญเพลิง 3 นาย ตอนนี้จะถูกพิจารณาคดีใน ข้อหาล่วงละเมิดเพศ ซึ่งโทษสูงสุดคือจำคุก 7 ปี น้อยกว่า ข้อหาข่มขืน ซึ่งโทษสูงสุด 20 ปี อย่างไรก็ดี ศาลรับคำร้องทนายความโจทก์เพื่อสอบสวนนักผจญเพลิง 3 นาย ใน ข้อหาประพฤติไม่สุจริตต่อผู้เยาว์ (corruption of minor) จากนี้ ผู้พิพากษาฝ่ายสอบสวนจะตรวจสอบว่า ผู้ต้องหารู้หรือไม่ว่า “จูลีเป็นผู้เยาว์” เพื่อนำไปสู่การตั้งข้อหาเพิ่มเติมกับนักผจญเพลิงนายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ขณะที่บรรดาผู้สนับสนุนรณรงค์ติดแฮชแท็กเป็นภาษาฝรั่งเศส #JusticePourJulie (ความยุติธรรมเพื่อจูลี) เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อคำพิพากษาของศาลสูงสุด เช่น ทวีตจากผู้ใช้รายหนึ่งระบุว่า “ยังอยู่ในอาการตกใจและโกรธแค้นต่อคำพิพากษาของศาล” อีกคนหนึ่งเน้นว่า “หน้าที่ของนักผจญเพลิงคือการ “ปกป้อง” พลเมือง”

ส่วนอีกคนเขียนว่า “ฝรั่งเศสกำลังสูญเสียจริยธรรม ต้องมีการลงโทษเพื่อคุ้มครองเด็ก” ผู้รณรงค์อีกคนระบุว่า“สิทธิมนุษยชนหมายถึงอะไรสำหรับ #จูลี? สิทธิในการถูกข่มขืนตั้งแต่อายุ 13 ถึง 15 ปี โดยผู้ใหญ่ 20 คน ที่จะได้รับการคุ้มครองโดย “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ในกระบวนการยุติธรรม?” และ “จูลี่เป็นเหยื่อ เธอเป็นผู้อ่อนแอ ความยุติธรรมไม่เข้าใจเลย เราอยู่ในปี 2021! #JusticeForJulie.”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อิหร่านประหารยกแก๊ง 4ทรชนย่ำยีผู้หญิงต่อหน้าสามีที่ถูกมัดให้มอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน