เมียนมา รวบนักข่าวญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นลั่น ปกป้องพลเมือง จี้ปล่อยตัวเดี๋ยวนี้ เร่งถามเหตุผลการควบคุมตัว

Twitter

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 สำนักข่าว เกียวโด ของญี่ปุ่น รายงานว่า สถานทูตญี่ปุ่นในเมียนมา รายงานว่า นักข่าวอิสระชาวญี่ปุ่น ถูกกองกำลังรักษาความปลอดภัยของเมียนมาควบคุมตัวในเรือนจำอินเส่ง ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ในวันอาทิตย์ (18 เม.ย.64) ที่ผ่านมา

Twitter

นักข่าวอิสระคนดังกล่าว คือ นาย ยูกิ คิตะซูมิ อดีตนักข่าวฝ่ายธุรกิจ ของสำนักข่าว นิกเคอิ ในโตเกียว โดยขณะถูกจับกุม เขากำลังพักอาศัยอยู่บ้านในเมืองย่างกุ้ง ในคืนวันอาทิตย์ และถูกนำตัวขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สื่อท้องถิ่นรายงาน

นาย คิตะซูมิ ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำอินเส่ง ในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งมีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองจำนวนมากถูกคุมขังอยู่ ขณะที่ทางสถานทูตญี่ปุ่น ระบุว่า ยังไม่ทราบเหตุผลในการควบคุมตัว นาย คิตะซูมิ

โยชิฮิเดะ สึกะ / Reuters

เมื่อวันจันทร์ (19 เม.ย. 2564) นาย โยชิฮิเดะ สึกะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า สถานทูตญี่ปุ่นในเมียนมา กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัว นาย ยูกิ คิตะซูมิ โดย นายสึกะ ให้คำสัญญาต่อหน้าผู้สื่อข่าวว่า “เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องพลเมืองชาวญี่ปุ่น”

คัตสึโนบุ คาโตะ / Reuters

ขณะที่ นาย คัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และนักการเมืองพรรคเสรีประชาธิปไตย ของญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวว่า “เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวนักข่าวชาวญี่ปุ่นโดยเร็วที่สุด” ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่า พวกเขาได้ถามทหารเมียนมา เกี่ยวกับเหตุผลในการควบคุมตัวของ นาย คิตะซูมิ และสอบถามเพิ่มเติมว่า นาย คิตะซูมิ ได้รับบาดเจ็บหรือไม่

Facebook

ก่อนหน้านี้ นาย คิตะซูมิ นักข่าววัย 45 ปี เคยถูกกองกำลังรักษาความปลอดภัยของเมียนมา ควบคุมตัวในช่วงสั้น ๆ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากเขาเข้าไปทำข่าวในการเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดยการรายงานข่าวของ นาย คิตะซูมิ ได้รับการเผยแพร่โดยสื่อของญี่ปุ่น นอกจากนี้เขายังโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาบนโซเชียลมีเดียอีกด้วย

การถูกควบคุมตัวในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 / Twitter

ทั้งนี้ในโซเชียลมีเดีย มีชาวเมียนมาบางคนเปิดเผยว่า ตนเองได้เห็นเหตุการณ์จับกุม นาย คิตะซูมิ โดยเล่าว่า พบเห็น นาย คิตะซูมิ ถูกบังคับให้ยกมือและคุกเข่าลง ด้วยคำสั่งของ กองกำลังรักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ฯก็นำลังกระดาษแข็งจำนวนหนึ่งออกจากบ้านของนาย คิตะซูมิ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเป็นการบุกค้น

Kyodo News

รัฐบาลทหารในเมียนมาได้ควบคุมตัวนักข่าวท้องถิ่น รวมถึงนักข่าวชาวต่างชาติ เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกองทัพเมียนมาได้ลิดรอนเสรีภาพในด้านต่าง ๆ มากขึ้น มีการเข้าควบคุมสื่อ และ ปิดบริษัทสื่อท้องถิ่นจำนวนมาก นอกจากนี้ กองทัพเมียนมายังตัดระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศอีกด้วย

ภาพการถูกควบคุมตัวในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 / Twitter

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน