บรรยากาศตื่นเต้นในห้องคลอด – วันที่ 6 พ.ค. เอพี และรอยเตอร์ ประมวลบรรยากาศจากภายในแผนกสูติกรรมของโรงพยาบาลในโมร็อกโก ของทารกแฝด 9 ที่ลืมตาดูโลกอย่างน่าอัศจรรย์จากคุณแม่ชาวมาลี ชาติในแอฟริกาตะวันตก

วันนี้คณะแพทย์เปิดเผยการทำคลอดนางฮาลีมา ซิสเซ วัย 25 ปี ที่ให้กำเนิดทารกหญิง 5 คน และทารกชาย 4 คน เมื่อวันอังคารที่ 4 พ.ค. และยืนยันว่าทั้งแม่และลูก 9 คน สบายดี แม้ว่าแม่จะเสียเลือดอย่างมากและต้องถ่ายเลือด และทารกจะคลอดก่อนกำหนดเมื่ออายุครรภ์ 30 สัปดาห์

ทารกแต่ละคนมีน้ำหนักแรกเกิด 1,270 กรัม และขนาดแรกเกิด 39.9 เซนติเมตร

นอกจากนี้ คณะแพทย์ถึงกับตะลึงเมื่อพบว่าทารกอยู่ในครรภ์อีก 2 คน ทั้งที่นางซิสเซได้รับการวินิจฉัยตามผลอัลตราซาวด์ในมาลีและโมร็อกโกก่อนหน้านี้ว่า ทารกที่จะลืมตาดูโลกมีเพียง 7 คน

คลิปวิดีโอจากคลินิกเอกชน ไอน์ บอร์ยา ในเมืองกาซาบลังกาของโมร็อกโก เผยแพทย์และพยาบาลทำงานอย่างหนักเพื่อให้ความมั่นใจว่า ทารกทั้ง 9 คน จะออกมาอย่างปลอดภัยและยังมีชีวิต

แพทย์คนหนึ่งสวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือพีพีอี เตรียมผ่าท้องทำคลอด ขณะที่บุคลากรการแพทย์คนอื่นๆ รอบแพทย์เตรียมพร้อมอย่างใจจดใจจ่อ

จากนั้น ผ่าท้องทำคลอดและนำทารก 9 คน ออกมาก่อนส่งให้พยาบาลหลังคลอดซึ่งทำความสะอาดและดูแลต่อไป และทารกบางคนได้รับออกซิเจนก่อนเข้าตู้อบทารก

ดร.ยาซิด โมอูรัด หนึ่งในคณะแพทย์ อธิบายขั้นตอนทำคลอดที่ซับซ้อนว่า ทารกแฝด 9 ลืมตาดูโลก หลังอยู่ในครรภ์แม่ราว 30 สัปดาห์ และก่อนหน้านี้มีความพยายามชะลอการคลอดออกไปอีก 5 สัปดาห์ เพื่อให้ทารกมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น

“ตอนแรกคุณแม่จะมีทารก 7 คน คุณแม่อยู่ที่นี่ 5 สัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ 25 สัปดาห์ หรือราว 6 เดือน คณะแพทย์พยายามทุกทางทั้งรักษาและดูแลคุณแม่อย่างเหมาะเพื่อขยายเวลาออกไปอีก 5 สัปดาห์

“แต่ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายเมื่อเราพบว่าทารกลืมตาดูโลกออกมา 9 คน ทั้งหมดถูกส่งหน่วยอภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ทารกเกือบทุกคนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ บางส่วนต้องใช้ถังออกซิเจน แต่ทั้งหมดสบายดีตั้งแต่แรกเห็น”

นพ.โมอูรัดประเมินด้วยว่า โอกาสที่ทารกจะรอดชีวิตเพิ่มขึ้นถึงราว 80% หากลืมตาดูโลกเมื่ออายุ 30 สัปดาห์ และหากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

“ผมไม่สามารถจินตนาการได้ว่า ทารกทั้ง 9 คน จะมีชีวิตเมื่ออายุ 25 สัปดาห์ เนื่องจากตัวจะเล็กลงตามธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่ต้องซื้อเวลาแก่ทารกแฝด 9” นพ.โมอูรัดกล่าว

ขณะที่สามีของนางซิสเซ นายอับจูดันต์ คาเดร์ อาร์บี ซึ่งยังอยู่ในมาลีพร้อมลูกสาวคนโตอีก 2 คน บอกกับ บีบีซี ว่า เขาไม่กังวลอนาคตของลูกแรกเกิดทั้ง 9 คน

“พระเจ้าประทานเด็กเหล่านี้แก่พวกเรา ทรงเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ ผมไม่กังวลเลย พระผู้เป็นเจ้าทรงย่อมรู้เหตุผลเมื่อทรงกระทำอะไรบางสิ่ง

“ทุกคนโทรศัพท์หาผม รัฐบาลมาลีโทรศัพท์แสดงความยินดี ผมขอบคุณทุกคน แม้แต่ประธานาธิบดีมาลีโทรศัพท์หาผมเช่นกัน” นายอาร์บีกล่าว

ส่วนเว็บไซต์ มาลี 24 รายงานว่า นางซิสเซอยู่ที่โรงพยาบาลพอยต์ จี ในกรุงบามาโก เมืองหลวงของมาลี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนถูกส่งต่อทางเครื่องบินมาโมร็อกโก ด้วยความช่วยเหลือของ นายบาห์ นดาว ประธานาธิบดีของรัฐบาลเปลี่ยนผ่านแห่งชาติมาลี

นางซิสเซลงจากเครื่องบินด้วยรถเข็นไปคลินิกเอกชน ไอน์ บอร์จา ในเมืองกาซาบลังกาของโมร็อกโก ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแล ก่อนให้กำเนิดทารกแฝด 9 ในที่สุด

ก่อนหน้านี้ คณะแพทย์ในมาลีประเมินว่า โอกาสน้อยกว่า 50% ที่ทารก 1 ใน 9 คน จะรอดชีวิต

ฟันตา ซีบี รัฐมนตรีสาธารณสุขมาลี กล่าวว่า นางซิสเซได้รับแจ้งจากแพทย์มาลีที่ติดตามมาโมร็อกโก ต่อจากนี้ คุณแม่พร้อมลูก 9 คน จะเดินทางกลับบ้านเกิดในหลายสัปดาห์ข้างหน้า และแสดงความยินดีต่อคณะแพทย์มาลีและโมร็อกโก ซึ่งมีความเป็นมืออาชีพและทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมากลายเป็นความสุข

ข่าวการตั้งครรภ์ของนางซิสเซเป็นที่สนใจทั่วประเทศในมาลี องค์กรต่างๆ จึงร่วมกันทำงานเพื่อให้ความมั่นใจว่า ทารกทั้งหมดจะลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย และคุณแม่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างดี

 

เดลีเมล รายงานด้วยว่า แม้ว่าข้อมูลที่นางซิสเซตั้งครรภ์ทารกแฝด 9 ยังไม่มีความแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) หรือเด็กหลอดแก้ว โดยในหลายกรณี ไข่ที่ปฏิสนธิหลายฟองจะถูกฝังเข้าไปในครรภ์ของผู้หญิงพร้อมกันเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะตั้งครรภ์

แต่ในน้อยกรณีนัก เอ็มบริโอหลายตัวจะพัฒนาเป็นทารก จึงเกิดการคลอดทารกแฝดหลายคน ซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

นางนาเดีย ซูเลมัน หญิงอเมริกันจากแคลิฟอร์เนีย ที่ให้กำเนิดทารกแฝด 8 เจ้าของสถิติโลกคนปัจจุบัน

ทั้งนี้ ดิ อินดีเพนเดนต์ รายงานว่า การที่ผู้หญิงคลอดลูกแฝด 7 อย่างประสบความสำเร็จ เกิดขึ้นยากยิ่ง ยิ่งแฝด 9 ยิ่งยากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ภาระแทรกซ้อนทางการแพทย์ในการคลอดลูกหลายคนอาจทำให้ทารกบางคนเสียชีวิตได้ด้วย

ตอนนี้นางซิสเซกลายเป็นคุณแม่คนที่สามของโลกที่คลอดทารกแฝด 9 ต่อจาก คุณแม่ชาวออสเตรเลีย คนแรกของโลกที่มีการบันทึกคลอดลูกแฝด 9 ในทศวรรษที่ 1970 แต่น่าเศร้าที่ทารกทั้งหมดไม่รอดชีวิต ส่วนคุณแม่อีกคนมาจากมาเลเซีย แต่ทารกทั้ง 9 คน มีชีวิตไม่เกิน 6 ชั่วโมงหลังลืมตาดูโลกเมื่อปี 2542

หากทารกแฝด 9 ของนางซิสเซรอดชีวิต จะเป็นการทุบสถิติโลกของนางนาเดีย ซูเลมัน หญิงอเมริกันจากแคลิฟอร์เนีย ที่ให้กำเนิดทารกแฝด 8 เป็นชาย 6 คน และหญิง 2 คน เมื่อเดือนม.ค. 2552 ซึ่งเติบโตมาอย่างแข็งแรงและเพิ่งฉลองวันเกิดครบ 12 ปี และทั้งหมดเกิดจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกายเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ฉลองวันเกิดแฝด8 วัย12แล้ว แม่อเมริกันปลื้มลูกๆ ทั้ง 14 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน