โควิด นักวิทย์กุมขมับโพลเผยคนไม่ยอมฉีดวัคซีนอื้อ-กระทบภูมิคุ้มกันหมู่

โควิด – วันที่ 25 พ.ค. ฟ็อกซ์21รายงานว่า ผลการสำรวจใน 116 ประเทศทั่วโลกโดย Gallup บริษัทสำรวจข้อมูลในสหรัฐอเมริกา พบปริมาณผู้แสดงความประสงค์จะฉีดรับวัคซีนเพียงร้อยละ 68 ส่งผลให้ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในโลกไม่สามารถบรรลุได้

รายงานระบุว่า ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เป็นเป้าหมายยุติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องมีประชากรประมาณร้อยละ 70-90 ที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อดังกล่าว หรือมากกว่า 5.3 พันล้านคนขึ้นไปในโลก

ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนอุปสรรคยิ่งใหญ่ของวงการสาธารณสุขที่กำลังกระเสือกกระสนกับการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 นอกเหนือไปจากสถานการณ์ขาดแคลนวัคซีนในหลายพื้นที่ทั่วโลก ยังมีผู้คนอีกกว่า 1.3 พันล้านคน ที่ไม่ต้องการรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

โพลสำรวจพบว่า ชาติที่มีผู้แสดงความประสงค์ต้องการรับการฉีกวัคซีนดังกล่าวมากที่สุดในโลกนั้นเป็น “พม่า” คิดเป็นประชากรสูงถึงร้อยละ 96 ส่วนที่มีผู้ต้องการรับวัคซีนน้อยที่สุด คือ คาซัคสถาน คิดเป็นประชากรไม่ถึงร้อยละ 25

ผลการศึกษายังพบว่า จะมีประเทศที่ฉีดวัคซีนและเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่สำเร็จอย่างน้อย 38 จากทั้งหมด 116 ชาติ แต่ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มชาติที่มีผู้ต้องการรับวัคซีนน้อยนั้นกระจุกตัวอยู่ในชาติยุโรปตะวันออก ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต

Gallup ระบุว่า การศึกษาดังกล่าวจัดทำในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่วัคซีนยังไม่มีออกมามากมายหลายแบรนด์เหมือนปัจจุบัน และหลายประเทศมีความรุนแรงของการระบาดแตกต่างกันไป ทางผู้วิจัยมองว่า ความคิดของผู้คนอาจจะเปลี่ยนไปแล้วในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลในสหรัฐฯ ในปี 2563 พบว่ามีชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 53 ต้องการรับการฉีดวัคซีน แต่การเก็บข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. 2564 พบว่ามีชาวอเมริกันถึงร้อยละ 74 ต้องการรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

คอนเซ็ปต์ภูมิคุ้มกันหมู่นั้นเป็นภาวะที่ประชากรมีภูมิคุ้มกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป ไม่ว่าจะด้วยการหายป่วยจากการติดเชื้อ หรือการได้รับวัคซีนก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ มองว่า ในโลกจริงนั้นไม่น่าจะทำสำเร็จ

สาเหตุมาจากเหตุผลหลายประการ อาทิ การกลายพันธุ์ของไวรัสที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและรวดเร็วเกินกว่าความเร็วในการระดมฉีดวัคซีน และคาดว่าไวรัสก่อโรคโควิด-19 จะไม่หายไปไหน แต่จะอยู่กับมนุษยชาติไปเรื่อยๆ

ข้อคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของทำเนียบขาว ซึ่งปรับเปลี่ยนเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้พลเมืองจากตัวเลขร้อยละมาเป็นจำนวนคน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีเป้าหมายต้องการฉีดวัคซีนให้ได้มากคนที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อลดการระบาดและนำวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงที่สุดกับช่วงก่อนการระบาดกลับคืนมาให้ชาวอเมริกัน

แพทย์หญิงโรเชลลี วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรค หรือซีดีซี กล่าวว่า หน่วยงานอยู่ระหว่างการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ข้อมูล และความปลอดภัยของวัคซีน เพื่อลดจำนวนผู้ที่ลังเลในการขอรับวัคซีน

“เราต่างเชื่อมั่นและทราบดีว่าวิทยาศาสตร์นั้นรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว บุคลากรทางด้านนี้นับแสนคน ทำงานอย่างมุ่งมั่นตามหลักวิชาการที่ผ่านกาลเวลานานหลายปีกว่าจะออกมาเป็นวัคซีนที่ทุกคนได้เห็นและใช้กันอยู่นี้”

“หากท่านกังวลเรื่องอาการข้างเคียง เราจะเอาข้อมูลจากการฉีดในกลุ่มประชากร 200 ล้านคนให้ท่านพิจารณา ดังนั้นเราจึงต้องลงพื้นที่ไปพบปะ เดินทางไปหาบุคคลหรือกลุ่มที่ไม่มั่นใจ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง” พญ.วาเลนสกี ระบุ

ทั้งนี้ ประเด็นความไม่มั่นใจและห่วงกังวลเกี่ยวกับวัคซีนเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาของผู้คนทั่วโลกในโซเชียลมีเดีย และในบางพื้นที่นั้นกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น ทวีปแอฟริกา ที่วัคซีนจำนวนหลายพันโดสอาจต้องถูกทิ้งเพราะหมดอายุ เนื่องจากชาวแอฟริกันหลายคน มองว่า โควิด-19 ไม่ร้ายแรงเหมือนอีโบล่า

ส่วนสาเหตุความไม่มั่นใจและห่วงกังวลเกี่ยวกับวัคซีน ส่วนใหญ่มาจากความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน