สหรัฐ – วันที่ 8 มิ.ย. บีบีซี รายงานว่า สหรัฐอเมริกากู้คืนค่าไถ่ส่วนใหญ่จากทั้งหมด 4.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 137 ล้านบาท ที่จ่ายแก่ดาร์กไซด์ แก๊งอาชญากรไซเบอร์ ที่ทางการสหรัฐระบุว่าปฏิบัติการจากยุโรปตะวันออกและมีความเป็นไปได้ว่ามาจากรัสเซีย โจมตีบริษัทท่อส่งน้ำมันโคโลเนียล ไปป์ไลน์ จนระบบออฟไลน์ การผลิตหยุดชะงักหลายวัน และเชื้อเพลิงขาดแคลน เมื่อวันที่ 7 พ.ค.
ลิซา โมนาโก กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. ว่า พนักงานสอบสวนพบและยึดคืนสกุลเงินบิตคอยน์จำนวน 63.7 บิตคอยน์ มูลค่า 2.3 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 71.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินส่วนใหญ่จากค่าไถ่ทั้งหมดที่จ่ายไป และตั้งแต่เหตุกาารณ์การเรียกค่าไถ่ดังกล่าว มูลค่าบิตคอยน์ลดลงอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐแนะนำบริษัทต่างๆ อย่าจ่ายเงินแก่อาชญากรจากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ หรือซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ เนื่องจากอาจดึงดูดแฮ็กเกอร์เพิ่มเติมเข้ามาบุกรุกในอนาคต และตั้งแต่นั้น รัฐบาลสหรัฐกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยจากการโจมตีของแรนซัมแวร์เช่นนี้
จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มิ.ย. ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหยิบยกประเด็นการโจมตีดังกล่าวมาหารือกับประธานาธิดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในการประชุมทวิภาคีที่วางแผนในเดือนนี้
ด้าน โจเซฟ บลอนต์ หัวหน้าผู้บริหารบริษัทโคโลเนียว ไปป์ไลน์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า “บริษัทรู้สึกขอบคุณสำหรับการทำงานรวดเร็วและความเป็นมืออาชีพของสำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ซึ่งช่วยกู้คืนค่าไถ่” และเสริมว่า “การควบคุมให้อาชญากรไซเบอร์รับผิดชอบ และการขัดขวางระบบนิเวศที่ช่วยให้อาชญากรไซเบอร์ปฏิบัติการโจมตี เป็นวิธีการดีสุดในการยับยั้งและป้องกันการโจมตีในอนาคต”
ทั้งนี้ หลังถูกโจมตีไซเบอร์เมื่อเดือนพฤษภาคม วอลล์สตรีตเจอร์นัลรายงานว่า บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ จ่ายค่าไถ่ด้วยสกุลเงินดิจิตอลแก่กลุ่มอาชญากร แลกกับเครื่องมือถอดรหัสเพื่อปลดล็อกระบบที่ถูกแฮ็กเกอร์บุกรุก แม้จะไม่เพียงพอต่อการรีสตาร์ตระบบทันที
นายบลอนต์ให้สัมภาษณ์วอลล์สตรีตเจอร์นัลว่า อนุมัติการชำระค่าไถ่เมื่อวันที่ 7 พ.ค. หลังหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่เคยจัดการกับดาร์กไซด์ และไม่ได้ดำเนินการตัดสินใจดังกล่าวอย่างง่ายดาย แต่เชื่อว่านั่นเป็นสิ่งถูกต้องที่จะทำเพื่อประเทศชาติ และเสริมว่า จะต้องใช้เวลาหลายเดือนก่อนระบบธุรกิจบางส่วนจะฟื้นตัวกลับมา และคาดว่าในที่สุดการโจมตีไซเบอร์จะทำให้บริษัทต้องเสียเงินหลายสิบล้านดอลลาร์
ในเวลานั้น กลุ่มอาชญากรรมดาร์กไซด์ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของตัวเอง ยอมรับว่าเป็นผู้แฮ็กโคโลเนียล ไปป์ไลน์ เป้าหมายคือเพื่อทำเงินและไม่ได้สร้างปัญหาต่อสังคม “เราไม่ได้มีส่วนร่วมในภูมิศาสตร์การเมือง ไม่จำเป็นต้องผูกมัดเรากับรัฐบาลที่กำหนด และมองหาแรงจูงใจของเรา” ดาร์กไซด์เสริม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ชี้แก๊ง “ดาร์กไซด์” จากรัสเซีย อยู่เบื้องหลังโจมตีไซเบอร์ ท่อส่งน้ำมันรายใหญ่สหรัฐ
โคโลเนียล ไปป์ไลน์-ระบบท่อส่งน้ำมัน ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ถูกโจมตีทางไซเบอร์